วันนี้ (18 สิงหาคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ กรรมาธิการผู้สงวนความเห็น สัดส่วนพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม มูลค่ากว่า 1.97 แสนล้านบาท โดยเสนอตัดงบ 5%
โดยพริษฐ์ระบุตอนหนึ่งว่า ไม่ปฏิเสธว่ากองทัพที่แข็งแกร่งต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยในบางกรณี แต่การขอซื้อเครื่องบิน F-35A ที่สังคมกำลังจับตาในปีนี้ นอกจากเป็นการของบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการของบสำหรับโครงการใหม่โดยที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ากองทัพใช้งบประมาณในแผนงานที่มีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพได้มากเพียงพอ ดังนั้นจึงเสนอปรับลดงบประมาณและเลื่อนโครงการในหลายส่วนออกไปก่อน จนกว่ากองทัพจะสามารถพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นได้ถึงความจริงจังและจริงใจในการปฏิรูปตัวเองผ่าน 5 ข้อพิสูจน์
ข้อพิสูจน์ 1. ควบคุมขนาดกองทัพและงบบุคลากรให้สมเหตุสมผล ซึ่งกองทัพไทยนั้นมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และนับวันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับกระแสโลก ทำให้งบบุคลากรสูงขึ้นถึง 54% ของงบทั้งหมด ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี นี่คือสภาพที่ให้นิยามว่า ‘นายพลล้น พลทหารเฟ้อ’ โดยในส่วนของนายพลที่มีมากนั้นเป็นมรดกตกทอดจากอดีต ที่ทำให้กองทัพไทยมีนายพลสูงกว่าประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว ซึ่งทำให้ใช้เงินเดือนและสวัสดิการสูง ขณะที่ในส่วนของพลทหารเฟ้อนั้น นอกจากการเกณฑ์ทหารจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้มีเพศกำเนิดชายแล้ว การมีอยู่ของบังคับเกณฑ์ทหาร ก็ทำให้กองทัพไม่ละเอียดและไม่จริงจังพอในการลดจำนวนพลทหารที่ไม่จำเป็น เช่นว่าขอจำนวนเยอะไว้ก่อน ถ้าคนสมัครไม่ถึงยอดก็บังคับเกณฑ์มาได้
ข้อพิสูจน์ 2. ตัดสิทธิพิเศษของนายทหารไม่ให้อยู่เหนือพลเรือน เพราะระบบราชการปัจจุบันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหาร ทำให้ทหารระดับนายพลได้สิทธิพิเศษ สวัสดิการ และงบประมาณหลายอย่างเหนือหน่วยงานอื่น ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากระเบียบข้าราชการที่กำหนดให้ทหารระดับนายพลประมาณ 1,000 คน ของกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียว มีลำดับอาวุโสเทียบเท่าอธิบดีในกระทรวงต่างๆ ที่อาจรวมกันไม่ถึง 10 คนต่อกระทรวง ดังนั้นจึงได้เห็นว่าค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง กระจุกอยู่ที่กระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียวถึง 70% ซึ่งนี่ขนาดว่ายังไม่รวมงบรถควบคุมสั่งการที่เป็นข่าวโด่งดังด้วย
ข้อพิสูจน์ 3. โอนถ่ายภารกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทหารไปให้หน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญกว่า เพราะหลายโครงการที่กองทัพขอรับงบประมาณนั้น เป็นโครงการที่เกินเลยความเชี่ยวชาญหรือพันธกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน ที่ใช้งบประมาณ 3,160 ล้านบาท ครอบคลุมตั้งแต่โครงการน้ำ 1,343 ล้านบาท, โครงการเกี่ยวกับถนน 715 ล้านบาท หรือโครงการเกี่ยวกับเกษตร 66 ล้านบาท เป็นต้น จริงอยู่ว่าเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน แต่ประเทศเรามีหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญและทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่า ถูกกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากองทัพ
ข้อพิสูจน์ 4. ประกันประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ตกถึงคนไทย ผ่านนโยบาย Offset ที่พูดถึงกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งแน่นอนว่างบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต้องถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็น และแม้จะมีความจำเป็นต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ แต่ก็ต้องมีการวางมาตรการให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่คนไทยด้วย และหนึ่งมาตรการที่ควรริเริ่มอย่างจริงจังก็คือนโยบาย Offset ผ่านการตั้งเงื่อนไขในสัญญานำเข้ายุทโธปกรณ์ เพื่อรับประกันประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คนไทยจะได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเป้าหมายการสร้างงาน ข้อบังคับเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตอุตสาหกรรมความมั่นคงในประเทศและลดการนำเข้าในอนาคต
ข้อพิสูจน์ 5. เปิดตัวเองต่อการตรวจสอบโดยประชาชน อย่างกรณีของงบลับของกองทัพที่มี 2 ส่วน คือ 1. งบราชการลับ ที่แม้จะเป็นตามระเบียบราชการ แต่ปีนี้ก็มีปริมาณสูงถึง 438 ล้านบาท และ 2. งบลับกว่า คือสิ่งที่เราไม่รู้แม้กระทั่งปริมาณและรายละเอียด นั่นก็คือธุรกิจกองทัพอย่างสนามกอล์ฟ สนามมวย เป็นต้น ซึ่งตราบใดที่เราไม่รู้ว่ากองทัพมีรายได้จากเงินนอกงบประมาณเท่าไร เราจะประเมินไม่ได้เลยว่ากองทัพต้องใช้เงินจากกระบวนการงบประมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสม ทั้งนี้ จริงอยู่ว่าบางกรณีก็มีงบบางส่วนที่อาจเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นเหตุผลเรื่องความมั่นคง แต่หากกองทัพใช้คำว่าความมั่นคงเป็นข้ออ้างเพื่อปกปิดงบประมาณในทุกเรื่อง ประชาชนจะยิ่งสงสัยว่าความมั่นคงนั้นเป็นของประเทศ ของกองทัพ หรือของใครกันแน่ แต่ถ้ายิ่งเปิดเผยหรือเปิดให้ตัวแทนประชาชนเข้าตรวจสอบในส่วนที่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะไม่ได้ เชื่อว่าถ้าไม่มีอะไรผิดปกติอย่างที่ชอบยืนยัน ข้อสงสัยจากประชาชนจะลดน้อยลง
“แม้ที่ผ่านมากองทัพอาจจะยังทำได้ไม่ดีพอในการได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรในการอนุมัติงบประมาณ แต่หากพิสูจน์ได้ในอนาคตว่าพร้อมจะปฏิรูปตนเองให้เป็นกองทัพของประชาชนที่เท่าทันโลก ผ่าน 5 ข้อพิสูจน์ดังกล่าว เชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกองทัพในการกอบกู้ความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรและจากประชาชนที่กำลังหายไปในขณะนี้” พริษฐ์กล่าว