วันนี้ (17 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยและข้อปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ชัชชาติกล่าวว่า เนื่องจากมีข้อมูลว่า แต่ละปีมีมูลค่าการซื้อขายขยะรีไซเคิล มากกว่า 3 แสนล้านบาท และปัจจุบันมีสมาชิกของสมาคมมากกว่า 3 หมื่นคน ดังนั้นต้องบอกว่าชาวซาเล้ง คือซาเล้งช่วยชาติ เพราะช่วยรีไซเคิลของตามบ้าน เอาไปขายร้านรับซื้อของเก่า ช่วยลดการนำขยะเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเก็บ ดังนั้นการมีอยู่ของซาเล้งถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการดูแลขยะของเมือง แต่ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องผังเมือง การตั้งอยู่ของร้านรับซื้อของเก่าไม่สอดคล้องกับผังเมือง
วันนี้ทางสมาคมมายื่นข้อเรียกร้องทั้งหมด 10 ข้อหลักเกี่ยวกับการจดทะเบียน ขึ้นทะเบียนซาเล้ง การช่วยเหลืออุปกรณ์เบื้องต้น เช่น ตาชั่ง และเปิดโอกาสให้มีการอบรมและลงทะเบียน เปิดโอกาสให้ซาเล้งไปเก็บของในหมู่บ้านต่างๆ ได้ เพราะบางหมู่บ้านไม่อนุญาตให้ซาเล้งเข้าไปในหมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอกำหนดการรีไซเคิลให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีแอปพลิเคชันสำหรับบ้านที่ต้องการเรียกให้มาเก็บขยะ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนใน กทม. ให้เข้าใจการรีไซเคิลมากขึ้น
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า เรื่องการตั้งอยู่ของร้านรับซื้อของเก่า ที่มีปัญหาเรื่องผังเมือง และความเดือดร้อนรำคาญของบ้านเรือนใกล้เคียง ดังนั้นจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้ และเอาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ามาอยู่ในภาพรวมการกำจัดขยะของเมืองด้วย
ด้านตัวแทนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า การกำหนดผังเมืองให้ร้านรับซื้อของเก่ามีพื้นที่ 100 ตารางเมตร ถือว่าเล็กมาก ดังนั้นควรเริ่มจากจุดเริ่มต้น คือการประกวดร้านรับซื้อของเก่า และกำหนดมาตรฐานตามข้อกำหนด อย่างเช่น ถ้าทำได้ใน 2 ปี อาจกำหนดเป็นโซนพิเศษ จากเดิมที่กำหนดพื้นที่จาก 100 ตารางเมตร ก็เพิ่มเป็น 200 หรือ 300 ตารามเมตรตามลำดับ รวมถึงอนุโลมเครื่องอัด 10 แรงม้า ให้สามารถดำเนินการได้ เพราะถ้าซื้อของเก่ามาแล้วไม่มีเครื่องอัด การจัดการจะยุ่งยากมาก