วานนี้ (16 สิงหาคม) ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 โดยมีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ทวิดากล่าวว่า สำหรับศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร หมายถึงความปลอดภัยอันเกี่ยวเนื่องกับสุขภาวะทั้งหมด จึงมีการปรับปรุงโครงสร้างและภารกิจของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร ให้มีความพร้อมในการรองรับและบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังภัยสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้น แต่เดิมที่เคยมีคณะกรรมการเฉพาะหน่วยงานในสังกัด กทม. ที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเชิญหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อให้มีช่องทางในการสื่อสารร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้การประสานงานและการทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยดี
- กรุงเทพมหานครไม่สามารถรองรับสถานการณ์ทั้งหมดได้เพียงหน่วยงานเดียว ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งในส่วนที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถทำได้ อาจมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนสังคม เข้ามามีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการอุดช่องว่างเหล่านี้
- สร้างกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบไร้รอยต่อ
ทั้งนี้ในที่ประชุม สำนักอนามัยได้แจ้งว่า มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ได้อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยมีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด ดังนี้
- กรณีที่ยังไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ฉีดเข็มที่ 1, 2 และเข็มกระตุ้นตามปกติ โดยเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) มีระยะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน
- กรณีเคยติดเชื้อโควิด แบ่งเป็น
2.1 ไม่เคยได้รับวัคซีน หากติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ให้รับวัคซีน 1 เข็ม
2.2 ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วติดเชื้อ ให้นับจากวันที่ติดเชื้อเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน จึงฉีดเข็มที่ 2
2.3 เด็กที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วติดเชื้อ ยังไม่แนะนำให้รับเข็มกระตุ้นในช่วงนี้ เนื่องจากได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อแล้ว
ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกรุงเทพมหานคร อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
ด้านสำนักการแพทย์ได้รายงานข้อมูลว่า ในส่วนของยาและเวชภัณฑ์ วัคซีน และเตียงรองรับผู้ป่วยยังมีเพียงพอ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิดทั้งที่ได้รับวัคซีนและเคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งประสิทธิผลของวัคซีนกรณีที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน อาจทำให้ระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อได้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังเข็มสุดท้าย 4 เดือน หรือหลังการติดเชื้อแล้ว 3-4 เดือนด้วย
นอกจากนี้ สำนักเทศกิจได้รายงานความคืบหน้าและสรุปสถานการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต ได้รายงานสถานการณ์และปัญหาเชิงพื้นที่ ได้แก่ สถานการณ์โรคต่างๆ เช่น โรคโควิด โรคมือ เท้า ปาก ฝีดาษลิง โรคไข้เลือดออก ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา จำนวนผู้ได้รับวัคซีน และแนวโน้มผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น
การตรวจสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมทั้งข้อจำกัดและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน เพื่อให้หน่วยงานอื่นได้ทราบข้อมูลด้านความปลอดภัยเชิงสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เห็นชอบในการปรับการรายงานข้อมูลให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการข้อมูลให้มีความถูกต้องรวดเร็ว มีเอกภาพ และประสิทธิภาพสูงสุด