วันนี้ (11 สิงหาคม) ธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กระทู้ถาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องขอให้เร่งรัดติดตามจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดคือ วรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ที่มีการขับรถเฟอร์รารีพุ่งชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตาย โดยไม่หยุดรถทันทีหลังจากชนผู้ตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับสูง โดยมีการสั่งฟ้องจากตำรวจไปยังอัยการและมีการร้องเรียนถึง 13 ครั้ง มีการเปลี่ยนความเร็วรถจากเดิม 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้ต้องหามีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึง 13 ครั้ง จนครั้งที่ 14 ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีได้ตั้งคณะกรรมาธิการกฎหมาย ตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมเข้ามาพิจารณาศึกษาทำสำนวนการสอบสวนขึ้นมาว่า ด.ต. วิเชียร เป็นผู้ประมาทเอง โดยมีการเปลี่ยนตัวอัยการและตำรวจที่เห็นแยกจากคดีออกจากสำนวน และมีการไม่สั่งฟ้องคดีตามมา ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจต่อประชาชนทั่วประเทศว่าคนที่มีฐานะร่ำรวยและมีฐานะเศรษฐกิจระดับสูงจะไม่กระทำผิดใช่หรือไม่ โดยประชาชนผู้ยากจนและยากไร้กลับถูกยัดเยียดข้อหา แต่ผู้กระทำผิดตัวจริงกลับไม่ถูกตั้งข้อหา
ขณะเดียวกันคดีดังกล่าวมีการย้ายนายตำรวจที่ออกหมายแดง ต่อมามีการตั้ง วิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
คณะกรรมการดังกล่าวได้สรุปข้อเท็จจริงไว้ว่า มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไปในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้อำนาจและช่องโหว่ทางกฎหมายโดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับและสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และคณะกรรมการมีข้อเสนอให้ดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยบุคคลจำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง พนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้บังคับบัญชาที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ทนายความที่กระทำผิดกฎหมาย พยานที่ให้การเป็นเท็จ และผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าว
ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เคยตั้งกระทู้ถามมาแล้ว 1 ครั้ง เพื่อขอให้นำผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี กระทู้ถามครั้งนั้นไม่ได้รับข้อชี้แจงที่เป็นเหตุเป็นผลต่อคดี สร้างความรู้สึกไม่สบายใจและไม่พอใจต่อประชาชนอย่างมาก เรื่องนี้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถลงโทษผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับสูงของประเทศได้ จึงเข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่สามารถติดตามตัวคนรวยมาดำเนินคดีได้ ทั้งที่รัฐบาลทราบว่า วรยุทธ อยู่วิทยา มีวีซ่าเชงเก็นอยู่ที่ 28 ประเทศ กลับไม่มีการติดตามความคืบหน้าใด มีเพียงการส่งหนังสือสอบถามไปยังสถานทูตต่างๆ เท่านั้น
ดังนั้นการตั้งกระทู้ถามครั้งนี้จึงต้องการให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีตอบข้อชี้แจงดังกล่าวว่ามีความคืบหน้าไปแล้วเพียงใด
ต่อมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาแทน พล.อ. ประยุทธ์ ว่าความคืบหน้าในเรื่องนี้ต้องมาจากแล้วจากชุดของ วิชา มหาคุณ ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จได้ส่งเรื่องมายังรัฐบาลตั้งแต่ปี 2563 และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในฝ่ายบริหารเป็นเจ้าภาพรับไปดำเนินการเพื่อประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดในการตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งทาง ป.ป.ช. มีรายชื่อที่จะต้องตรวจสอบ 19 รายชื่อ ซึ่งทั้ง 19 รายชื่อนี้มี 2 รายชื่อที่จะต้องการกันตัวไว้เป็นพยาน และคนที่ไม่เกี่ยวข้องออก 2 คน ดังนั้นจึงเหลือควรที่จะต้องตรวจสอบ 15 รายชื่อจาก 19 รายชื่อ โดยใช้อำนาจ ป.ป.ช. เต็มคณะ โดยไม่มอบให้คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน โดยรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสอบถามหรือล่วงรู้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้เคยมีการสอบถามเป็นระยะๆ แต่ได้รับคำตอบเพียงว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบเท่านั้น
สำหรับหน่วยงานที่ 2 คือสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบพิจารณา และเพิ่งมีมติเมื่อไม่นานที่ผ่านมาว่าสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยให้ออกจากราชการ ส่วนอีกบุคคลหนึ่งอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยอย่างร้ายแรง ขนาดนี้ยังไม่ปรากฏผลการพิจารณา
ขณะที่หน่วยงานที่ 3 คือกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ที่ได้รับรายชื่อทั้งหมดจากรัฐบาลเพื่อตรวจสอบให้เป็นคดีพิเศษตามอำนาจหน้าที่แล้ว ซึ่งชั้นต้นทางคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องคดีพิเศษได้เสนอมายังคณะกรรมการคดีพิเศษว่ายังไม่มีเหตุที่จะรับเรื่องนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น โดยคณะกรรมการคดีพิเศษพยายามชี้ให้คณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบเพิ่มเติม และขณะนี้ยังไม่มีวันนัดประชุมเพื่อพิจารณาลงมติว่าคดีดังกล่าวจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่
หน่วยงานที่ 4 คือสภาทนายความ เนื่องจากมีบุคคลที่เป็นทนายเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นทนายที่ยื่นร้องขอความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาในคดีนี้ซ้ำซากหลายครั้ง โดยสภาทนายความได้ตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งผู้ถูกตรวจสอบไม่ให้ความร่วมมือโดยอ้างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด และผัดผ่อนอยู่หลายครั้ง ซึ่งภายในเดือนสิงหาคมนี้ทนายความผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าชี้แจงใดๆ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดสามารถชี้ขาดเพียงฝ่ายเดียวได้
หน่วยงานที่ 5 คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปรากฏอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. ตั้งแต่ยศพันตำรวจเอกลงมาหลายราย โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ในขณะนั้นได้ตั้งประเด็นออกเป็น 3 เรื่อง คือ 1. ให้สอบในทางวินัย 2. ให้สอบในทางอาญา 3. ให้ดำเนินการแก้กฎระเบียบต่างๆ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโดยมี วิชา มหาคุณ เป็นประธาน
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ดังนั้นจึงยังไม่สามารถยุติการสอบได้ขณะนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องหลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2565