×

ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวพร้อมหน้าครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตัวเลขนี้บอกอะไร?

31.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • GDP ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขยายตัวพร้อมกันครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2008 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวแล้ว
  • IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวถึง 3.9% ในปี 2018 และปี 2019 ขณะที่ GDP ของสหรัฐฯ จะเติบโต 2.7% ในปีนี้
  • แต่ UN เตือนว่า ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองและสงครามการค้าอาจฉุดรั้งการเติบโต แนะรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2017 ด้วยพลังขับเคลื่อนจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งเติบโตอย่างพร้อมหน้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

 

ข้อมูลจาก Conference Board องค์กรวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำของโลกระบุว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ ทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ทั่วโลก ต่างก็มีอัตราขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ นำโดยสหรัฐอเมริกาที่เติบโตระดับ 2.3% ส่วนจีน ยักษ์เศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกขยายตัว 6.6% ขณะที่ญี่ปุ่น แม้จะยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดก็ยังขยายตัวที่ระดับ 1.4%

 

ข้ามไปที่ยูโรโซน แม้เผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในบางประเทศก็ยังเติบโตที่ระดับ 2.2% ขณะที่สหราชอาณาจักรที่กำลังดิ้นรนเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังเติบโตที่ 1.5%

 

ประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่อื่นๆ ต่างก็ขยายตัวแบบไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน ประกอบด้วย อินเดีย 6.2% รัสเซีย 1.8% และบราซิล 1% ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่ม BRICS ขณะที่แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก ตุรกี และอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่ม G20 ก็เติบโตที่ระดับ 2.5% 1.8% 2.7% 2.5% 4% และ 4.9% ตามลำดับ

 

 

การขยายตัวของประเทศเหล่านี้ดีต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

เราสามารถอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ได้ว่า ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ เป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อีกทั้งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทักษะมหาศาล ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีย่อมกระตุ้นการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานและขยายกำลังการผลิตมากขึ้น และเมื่อคนมีรายได้มากขึ้นก็จะกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อการบริโภค ด้วยเหตุนี้มูลค่าการค้าก็จะขยายตัวตามไปด้วย ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นเช่นกัน

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวถึง 3.9% ในปี 2018 และปี 2019 จากระดับ 3.7% ในปี 2017 และ 3.2% ในปี 2016 แต่อัตราการเติบโตดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 ซึ่งในเวลานั้นเติบโตในอัตราสูงกว่า 4%

 

 

ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ

แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในทิศทางเติบโตอย่างสดใสในปีนี้ แต่หลายประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไปจนถึงสงครามการค้า ซึ่งอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ

 

ที่ประชุม World Economic Forum (WEF) 2018 ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเพิ่งปิดฉากไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ออกรายงานเตือนถึงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดย 93% ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมีความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะที่ 79% วิตกสถานการณ์ตึงเครียดในพื้นที่สู้รบในหลายประเทศ และ 73% กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่หลายประเทศจะฝ่าฝืนกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากกระแสชาตินิยมและการปกป้องการค้ากำลังมาแรง

 

 

นอกจากนี้รายงานของ WEF ยังเตือนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ และปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย

 

ขณะที่สหประชาชาติ (UN) ได้เตือนในรายงาน World Economic Situation and Prospects 2018 ว่า ถึงแม้ลมมรสุมจากวิกฤตการเงินทั่วโลกจะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะยาวที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  

 

นอกจากนี้ UN ยังแนะให้ประเทศต่างๆ เรียนรู้บทเรียนจากอดีตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำรอยดังเช่นที่เกิดวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008-2009 และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรประหว่างปี 2010-2012     

 

 

แม้เศรษฐกิจโลกขยายตัว แต่ยังกระจายความเจริญไม่ทั่วถึง

UN ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในปีที่แล้ว เศรษฐกิจโลกยังได้อานิสงส์จากรัสเซีย บราซิล อาร์เจนตินา และไนจีเรียที่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยตามวงจรทางเศรษฐกิจ แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การเติบโตของรายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ประเทศและภูมิภาค ขณะที่หลายพื้นที่ทั่วโลกยังคงประสบปัญหายากจน และประชากรมีรายได้ต่ำ  

 

 

นโยบายของสหรัฐฯ มีผลต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับสหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกยังคงมีปัญหาท้าทายรออยู่ในปีนี้เช่นกัน แม้ว่ากฎหมายปฏิรูประบบภาษีที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันจะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยให้ประเทศอื่นๆ พลอยได้อานิสงส์จากการค้าและการลงทุนที่ขยายตัวตามไปด้วย แต่ Moody’s สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกเตือนว่า กฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในกรอบที่จำกัดเท่านั้น เนื่องจากบริษัทนอกภาคการเงินจำนวนมากมีแนวโน้มไม่นำเงินจากการลดหย่อนภาษีไปลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ Moody’s ยังเตือนความเสี่ยงเกี่ยวกับหนี้สาธารณะและหนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นด้วย

 

ขณะเดียวกันธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีความท้าทายในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อไปสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะการจ้างงานที่ใกล้เต็มศักยภาพ

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ที่ 3% ในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไม่มาก เว้นเสียจากว่าทรัมป์จะสามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพตามมาอีกในปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.7% ในปี 2018

 

แต่นโยบายปกป้องการค้าของทรัมป์อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก โดยในปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกตกอยู่ในความอึมครึม ดังนั้นท่าทีของทรัมป์ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและการค้าหลังจากนี้ จึงเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้าโลกด้วย เพราะประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักปรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ตาม

 

 

จีน กับปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นและความเสี่ยงเกิดวิกฤตการเงินระลอกใหม่

เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงในช่วงหลัง ในขณะที่รัฐบาลมุ่งหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันไปพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี จีนยังคงเผชิญปัญหาหนี้สินที่ก่อโดยรัฐบาลท้องถิ่น และปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังจีนระบุว่า หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวสู่ระดับ 16.47 ล้านล้านหยวน (2.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจุดกระแสความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหม่ในจีน โดย IMF ประมาณการว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของจีนได้ขยายตัวถึงระดับ 234% ของ GDP ในปี 2016

 

 

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังออกมาตรการควบคุมความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัยตามเมืองใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า จีนกำลังปวดหัวกับการแก้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

 

แต่การที่จีนส่งเสริมนโยบายการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีจะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาเรียกร้องให้จีนเปิดกว้างมากขึ้นก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องขบคิดต่อไป เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมตลาดทุนอย่างเข้มงวด และมักใช้เครื่องมือแทรกแซงตลาดการเงินอยู่เสมอ

 

 

ความไม่แน่นอนและปัญหาขัดแย้งทางการเมือง อาจทำให้ยุโรป ‘สะดุด’     

การที่เศรษฐกิจยูโรโซนยังอยู่ในทิศทางการขยายตัวอย่างมั่นคง ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจพิจารณาถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน หลังจากที่ดำเนินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และคงอัตราดอกเบี้ยติดลบมานาน 3 ปี

 

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลสเปนกับแคว้นกาตาลุญญาที่พยายามแยกตัวเป็นเอกราช ตลอดจนปัญหาความไม่แน่นอนของกระบวนการ Brexit และการเมืองที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพในเยอรมนี อาจบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาคและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

ญี่ปุ่น กับการขยายบทบาทเป็นหมุดเชื่อมการค้าระหว่างประเทศ

แม้ญี่ปุ่นยังคงถูกรุมเร้าจากภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมานานนับทศวรรษ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ยังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘อาเบะโนมิกส์’ เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์คือการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ รวมทั้งอาสาเป็นผู้สานต่อความตกลง TPP ในยามที่ไร้หัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังพยายามจับมือเป็นพันธมิตรกับอินเดีย ประเทศคู่แข่งของจีน และเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพื่อคานอำนาจจีนและขยายอิทธิพลในภูมิภาคไปพร้อมกัน

 

แต่ในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีปัญหาหนักอกในการกระตุ้นภาคการบริโภคของประชาชน โดยที่ผ่านมานายกฯ อาเบะ พยายามเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจในญี่ปุ่นปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ยังไม่เป็นผล

 

ในภาพรวม แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในทิศทางการเติบโตอย่างสดใสในปีนี้ แต่ปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี วิกฤตความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับนโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของกระแสชาตินิยมทั่วโลก ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลด้วย

 

อย่างไรก็ดี UN คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถประคับประคองการขยายตัวที่ระดับ 3% ในปีนี้ได้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มากมาย

 

Cover Photo: Karin Foxx

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X