×

อธิบายความสัมพันธ์สามเส้า สหรัฐฯ-ไต้หวัน-จีน แบบเข้าใจง่าย

03.08.2022
  • LOADING...
แนนซี เพโลซี

นักวิเคราะห์มองว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ อาจทำให้สถานภาพความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลที่ตามมาอาจกระทบภูมิทัศน์การเมืองโลก และนโยบายของหลายประเทศที่มีต่อจีนและไต้หวัน 

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น บทความนี้จะอธิบายหนึ่งในความสัมพันธ์สามเส้าที่มีความซับซ้อน และอ่อนไหวมากที่สุดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

 

  • ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในจีนและสงครามเย็นช่วงแรก (ปี 1945-1949) สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาลชาตินิยมที่นำโดย ก๊กมินตั๋ง (กั๋วหมินตั่ง) ส่วนสหภาพโซเวียตหนุนหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งต่อมาสามารถปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ได้ทั้งหมด และประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 1949

 

  • ก๊กมินตั๋งลี้ภัยหนีไปตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวัน หลังแพ้คอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมือง สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนก๊กมินตั๋งต่อไป โดยให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่างๆ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจของตนเอง

 

  • แต่ในช่วงที่จีนและโซเวียตเกิดความขัดแย้งทางการทูตในช่วงทศวรรษ 1960 ได้เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ หันมาเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น โดยในปี 1971 เกิดการทูตปิงปองที่โด่งดังขึ้น ซึ่งเป็นการแข่งขันเทเบิลเทนนิสระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ญี่ปุ่น ก่อนกรุยทางสู่การเยือนปักกิ่งของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในปี 1972 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน 

 

  • ปี 1979 สหรัฐฯ ตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ จากเดิมที่ให้การยอมรับไต้หวัน

 

  • เกิด ‘นโยบายจีนเดียว’ (One China Policy) ขึ้น ซึ่งเป็นพันธกรณีที่สหรัฐฯ จะต้องยอมรับว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลจีนหนึ่งเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังยอมรับว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่เคยประกาศรับรองว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน  

 

  • แม้สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในระดับทางการ แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ในระดับไม่เป็นทางการกับไต้หวันเสมอมา ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งเปิดทางให้มีการค้าขาย และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและอื่นๆ ผ่านทางสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (ซึ่งในทางพฤตินัยแล้วทำหน้าที่เป็นสถานทูตสหรัฐฯ ในไทเป)    

 

  • ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ยึดถือหลักนโยบาย ‘ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Ambiguity) ซึ่งก็คือการรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันในระดับที่ไม่เป็นทางการ ภายใต้กฎหมายที่มีข้อผูกพันให้รัฐบาลสามารถจัดหาอาวุธเชิงรับให้ไต้หวันเพื่อป้องกันประเทศ แต่ก็มีนโยบายที่คลุมเครือว่าสหรัฐฯ จะเข้าปกป้องไต้หวันหากจีนใช้กำลังทหารรุกรานหรือไม่  

 

  • อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน บรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า นโยบาย Strategic Ambiguity ที่มีต่อไต้หวันนั้นเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่คลุมเครือน้อยลง กล่าวคือไบเดนพูดย้ำรวม 3 ครั้งว่า สหรัฐฯ จะแทรกแซงทางทหาร หากจีนโจมตีไต้หวัน แม้ว่าทำเนียบขาวจะออกมาปฏิเสธคำพูดของไบเดนทุกครั้งก็ตาม

 

  • สหรัฐฯ มองว่านโยบายที่มีความคลุมเครือนั้นมีประโยชน์ คือด้านหนึ่งสามารถป้องปรามไม่ให้จีนใช้กำลังกับไต้หวัน เพราะจีนจะเกิดความหวาดระแวงว่าสหรัฐฯ อาจตอบโต้ด้วยมาตรการทางทหาร ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ป้องกันไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราชทันที เพราะไม่ได้ให้หลักประกันแก่ไต้หวันว่าจะร่วมรบ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ นโยบาย Strategic Ambiguity มีเป้าหมายเพื่อรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ (Status Quo) และป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นในเอเชีย     

 

  • การเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ซึ่งเป็นการเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 25 ปีนั้น ทำให้สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันตึงเครียดขึ้น และทำให้ทำเนียบขาวเกิดความลำบากใจ เพราะวอชิงตันเองก็ไม่ต้องการบาดหมางกับปักกิ่งในช่วงเวลาที่อ่อนไหวนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไบเดนย้ำว่าเพโลซีมีสิทธิเยือนประเทศหรือดินแดนใดก็ได้ ขณะที่เพโลซีย้ำว่า การเยือนไต้หวันครั้งนี้มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นพันธกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน ในยามที่ไต้หวันกำลังถูกจีนคุกคามอย่างหนัก

 

  • สำหรับจีนนั้นมองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาตลอด และเคยประกาศอย่างชัดเจนหลายครั้ง โดยเฉพาะในยุคสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงว่า จีนจะใช้กำลังทางทหารกับไต้หวันหากจำเป็น ซึ่งหมายถึงการประกาศแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ 

 

  • ส่วนไต้หวันมองตนเองว่าเป็นประเทศที่มีอธิปไตย มีรัฐบาลปกครองตนเองมาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับไทเปมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด โดยบรรยากาศมีทั้งผ่อนคลายและตึงเครียดตามนโยบายพรรคการเมืองที่ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พรรคหมินจิ้นตั่งของไช่อิงเหวินขึ้นปกครองไต้หวันในปี 2016 รัฐบาลของเธอมีนโยบายแข็งกร้าวต่อปักกิ่งเรื่อยมา จนเกิดความตึงเครียดขึ้นบ่อยครั้ง

 

  • หากสถานภาพที่เป็นอยู่ (Status Quo) เป็นเช่นเดิมต่อไป จีนกับไต้หวันก็ยังมีการค้าขายแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมตามปกติ และดูเหมือนว่าจีนจะพอใจกับสถานภาพเช่นนี้ ตราบใดที่ไต้หวันไม่คิดประกาศแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ

 

  • ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Washington Post ชี้ว่า การเยือนไต้หวันของเพโลซีครั้งนี้ เป็นการท้าทายจีนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และถือเป็นบททดสอบสำคัญในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ไม่ราบเรียบ และมีการกระทบกระทั่งเรื่อยมา

 

  • ขณะที่ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเยือนไต้หวันของเพโลซีกำลังทำให้ Status Quo ที่สหรัฐฯ คิดแบบ Strategic Ambiguity และจีนคิดแบบ Strategic Patience เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งน่าจับตาดูต่อว่า ความสัมพันธ์สามเส้า สหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน จะไปสู่จุดไหนต่อไป

 

ภาพ: Elif Bayraktar via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising