เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้เครือข่าย People GO network สามารถจัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามปิดกั้น และต้องดูแลความปลอดภัยของผู้ทำกิจกรรม จนกว่ากิจกรรมจะแล้วเสร็จ
แต่ก่อนหน้านั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีผู้จัดกิจกรรมจำนวน 8 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามมิให้มั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นอาจารย์ที่เป็นคณบดีคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ล่าสุด คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องขอให้ทบทวนการดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ และผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปโดยสันติ โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ในนามของ People GO network ได้จัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพ ทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นกิจกรรมที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ที่ผ่านมานั้น
ในฐานะที่กิจกรรมนี้เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นชุมชนทางวิชาการ และเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเสมอมา รองอธิการบดีที่รับผิดชอบพื้นที่ศูนย์รังสิต ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านอื่น อันประกอบด้วยรองอธิการบดี 4 คน คณบดี 10 คณะผู้อำนวยการสถาบัน 5 สถาบัน และผู้ช่วยอธิการบดี 10 คน ตามรายนามข้างท้าย จึงใคร่ขอแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนึ้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้สิ้นสภาพลงไปแล้ว นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มี่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำสั่งของ คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 จะยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ในเมื่อประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องกลายเป็นเรื่องยกเว้น มิใช่เรื่องหลักอีกต่อไป
ดังนั้น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ที่ ‘ห้ามมั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป’ ซึ่งเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความและใช้อำนาจนี้อย่างกว้างขวาง ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงควรต้องทบทวนที่จะบังคับใช้ต่อไป มิเช่นนั้นแล้ว จะเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผ่านการลงประชามติและประกาศใช้แล้ว ยังคงไม่มีผลบังคับใช้ และเท่ากับว่าประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
2. ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามโรดแมปกลับสู่สภาวะปกติ คสช. จึงควรเปิดกว้างมากขึ้น และให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพภายในขอบเขตของกฎหมายและภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวหลายครั้งว่า ประชาชนอย่าเอาแต่รอรัฐบาล แต่ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศด้วย การแสดงออกของประชาชนภายในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยสันติวิธี จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน การดำเนินคดีต่อผู้จัดกิจกรรมการแสดงออกใดๆ ควรจะดำเนินการต่อเมื่อผู้จัดกิจกรรมฝ่าฝืนกฎหมายปกติเท่านั้น
3. การจัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ที่กำลังเดินไปตามถนนมิตรภาพโดยมีปลายทางที่จังหวัดขอนแก่นนั้น เป็นกิจกรรมรณรงค์ประเด็นทางสังคมโดยใช้วิธีการเดินรณรงค์ ทำนองเดียวกับการจัดวิ่งหรือขี่จักรยาน หรือกิจกรรมรณรงค์รูปแบบอื่นในทำนองเดียวกัน คสช. จึงไม่ควรถือว่าเป็น ‘การมั่วสุมประชุมทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลปกครองได้มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และต้องอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการชุมนุม จึงไม่ควรมีการดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 อีก
โดยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามรายนามข้างท้าย จึงใคร่ขอให้ คสช. โปรดทบทวนการดำเนินการกับผู้จัดกิจกรรมทั้ง 8 คน รวมถึงผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปอย่างสันติ ในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ขอให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดี อาจถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงพนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำให้กลายเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายอีกต่อไป อันไม่เป็นผลดีต่อประชาชน ภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และต่อ คสช. เองด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
3. ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรพรรณ โพชนุกูล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา
4. รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
5. รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
6. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล คณบดีคณะศิลปศาสตร์
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์
11. รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
12. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
14. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
15. อาจารย์ ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
16. รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ วังศกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา
17. อาจารย์ ดร.ปกป้อง ส่องเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
18. อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา
19. รองศาสตราจารย์ ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการสถาบันภาษา
20. อาจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริยา ณ นคร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา
22. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลัง
23. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์
24. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
25. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร
26. นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์
ภาพ: People GO network
อ้างอิง: