วานนี้ (31 กรกฎาคม) ที่บริเวณด้านหน้าเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมชมการแสดง ‘แสงหลวงโชติการาม’ คืนชีพพระธาตุเจดีย์หลวง
บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การแสดงชุดแสงหลวงโชติการามเป็นการฉายแสงเลเซอร์เติมไปในบริเวณส่วนยอดขององค์เจดีย์หลวงที่ขาดหายไป โดยเป็นการใช้แสงเติมรูปทรงและสัดส่วนความสูงให้กับองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคนิคการฉายอุโมงค์แสงให้เกิดเป็นเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เพื่อแสดงสัดส่วนและความสูงของเจดีย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะมีความสูงประมาณ 70 เมตร
ประกอบกับการใช้ 2 เทคนิค คือ 1. Projection Mapping ในการสร้างความเคลื่อนไหวให้มีชีวิตชีวา และ 2. Lighting Design ในการสร้างบรรยากาศและความรู้สึก เพื่อให้องค์พระธาตุมีความสมบูรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
การจัดกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในด้านสถาปัตยกรรม วัด และศิลปะล้านนา โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพื่อให้คนในรุ่นปัจจุบันสามารถย้อนไปชมความงดงามขององค์พระธาตุในอดีต โดยอ้างอิงจากรูปทรงและความสูงที่ได้ศึกษา เปรียบเทียบกับหลักฐาน ข้อมูล ตำนาน และการสันนิษฐานของนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมของล้านนา
สำหรับการแสดงแสงหลวงโชติการามจะจัดขึ้นในคืนวันอาทิตย์ในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2565 โดยแสดงวันละ 4 รอบ รอบละ 30 นาที เริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ฟรี
สำหรับพระธาตุเจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือ เดิมมีความสูงประมาณ 70-80 เมตร ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยพญาแสนเมืองมา กระทั่งเมื่อ 477 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หัก เหลือความสูงเพียง 40 เมตร
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ