เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์สรุปผลประกอบการ 2Q65 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ภายใต้การวิเคราะห์ของ SCBS
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลดลง 1.25%MoM ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 0.40%MoM
สรุปผลประกอบการ 2Q65:
ใน 2Q65 กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารลดลง 1%QoQ แต่เพิ่มขึ้น 2%YoY (22%YoY หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น TIDLOR ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวใน 2Q64 ของ BAY) กำไรสุทธิของธนาคารส่วนใหญ่ออกมาดีกว่า SCBS และ Consensus คาดอยู่เล็กน้อย หลักๆ เกิดจากรายการตั้งสำรองและ NIM
สำหรับกลุ่มธนาคารโดยรวม ผลประกอบการ 2Q65 สะท้อนถึง:
- คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงเล็กน้อย พร้อมกับ Credit Cost ที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังโดยธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อ
- การเติบโตของสินเชื่อที่ฟื้นตัวที่ 1.2%QoQ, 2.2%YTD และ 5.7%YTD หลักๆ ได้แรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย
- เซอร์ไพรส์เชิงบวกจาก NIM ที่เพิ่มขึ้น 8 bps QoQ หลักๆ เกิดจากผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ดีขึ้น
- Non-NII ที่มีทิศทางคละเคล้ากัน (กำไรจากเครื่องมือทางการเงินและเงินลงทุนมีทิศทางคละเคล้ากัน) และรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนแอลงเล็กน้อย (หลักๆ เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับตลาดทุน)
- อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ค่อนข้างทรงตัว
อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิ 1H65 คิดเป็นสัดส่วน 51% ของประมาณการกำไรเต็มปีของ SCBS ซึ่งเมื่อเทียบ YoY คาดว่ากำไรสุทธิ 2H65 ของธนาคารทุกแห่งจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลักๆ เกิดจากการตั้งสำรองลดลงและ NIM ที่ดีขึ้น
ขณะที่เมื่อเทียบ HoH คาดว่ากำไรสุทธิ 2H65 จะอยู่ในระดับทรงตัวสำหรับ SC, KBANK, BAY และ TISCO แต่ลดลงสำหรับ KTB, TTB และ KKP หลักๆ เกิดจากการตั้งสำรองเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังเป็นหลัก และเพิ่มขึ้นสำหรับ BBL หลักๆ เกิดจากการตั้งสำรองเพิ่มในช่วงครึ่งปีแรกเป็นหลัก
ส่วน NII คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นใน 2H65 โดยเกิดจากการเติบโตของสินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นตามฤดูกาล และ NIM ที่ดีขึ้นเพราะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แนวโน้มผลประกอบการในปี 2565:
SCBS คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัว 13% ในปี 2565 (17% หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น TIDLOR ของ BAY) เทียบกับ 26% (21% หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น TIDLOR ของ BAY) ในปี 2564 โดยได้แรงหนุนจาก Credit Cost ที่ลดลง พร้อมกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยที่ปัญหานี้จะบรรเทาลงได้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ
สินเชื่อจะเติบโต 5% (มีแนวโน้ม Upside), NIM ในระดับทรงตัว (ผลกระทบเชิงลบจากการปรับโครงหนี้ระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ จะได้รับการชดเชยจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนสินเชื่อมามีสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น), Non-NII ที่ลดลง (กำไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียวลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมค่อนข้างทรงตัว) และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในระดับทรงตัว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันราคาหุ้นธนาคารมี Valuation ไม่แพง (-2SD PBV และ -1SD PE) และกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องพร้อมกับ Upside ต่อ NIM
สำหรับหุ้นเด่นกลุ่มธนาคาร SCBS เพิ่ม KTB (ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำ และอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังจะมาถึง) เข้ามานอกเหนือจาก BBL (ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำ และอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังจะมาถึง) และ KBANK (ผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังจะมาถึง)
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งเป็น Downside ต่อประมาณการกำไรปี 2565 การตั้งสำรองเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุมาจาก NPL ที่เร่งตัว รวมถึงสินเชื่อชะลอตัว จากการใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อใหม่
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP