สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยยอด ส่งออกรถยนต์ เดือนมิถุนายนปรับลดลง 11% เล็งปรับคาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ลงเหลือ 1.7 ล้านคัน หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนและการล็อกดาวน์ของจีนซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนชิป
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2565 ไทยมียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 73,887 คัน ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนประกอบที่นำเข้ามาผลิต ขณะที่มูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 64,016 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 9.94%
สำหรับยอดการส่งออกรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) อยู่ที่ 449,644 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.04% และมีมูลค่าส่งออกที่ 266,654.08 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.5%
ด้านยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 143,016 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.53% โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ 20.69% คิดเป็นสัดส่วน 50.35% โดยรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 870,109 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 3.02%
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ยังเปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของ ส.อ.ท. จะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ใหม่ จากปัจจุบันที่ตั้งเป้าการผลิตในปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ยอดการผลิตในปีนี้อาจจะลดลงเหลือราว 1.7 ล้านคัน เนื่องจากยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนการผลิตมากขึ้น
“เป้าการผลิตที่ 1.8 ล้านคันถูกกำหนดในตอนที่ยังไม่มีปัญหาเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเกิดสงครามก็ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนในการผลิตมากขึ้น เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน เมื่อรวมกับสถานการณ์การล็อกดาวน์ของจีน ทำให้การผลิตในภาพรวมน่าจะปรับลดลง” สุรพงษ์กล่าว
สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 67,952 คัน ขยายตัวขึ้นจากเดือนก่อน 5.97% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.6% เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น การส่งออกที่เติบโตโดยเฉพาะสินค้าเกษตร การประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น
ด้านสถิติรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 877 คัน เพิ่มขึ้น 431.52% จากปีก่อนหน้า รวมรถ EV จดทะเบียนใหม่สะสม 6 เดือนแรกอยู่ที่ 3,041 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 234.91% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นดีมานด์ของภาครัฐในการอุดหนุนเงินซื้อรถ EV รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพงในปีนี้ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถ EV มากขึ้น
สำหรับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท HEV เดือนมิถุนายนอยู่ที่ 5,581 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 103.91% รวม HEV สะสม 6 เดือนแรก 32,527 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 61.58% และรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท PHEV เดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1,085 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 59.56% รวม PHEV สะสม 6 เดือนแรก 5,947 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 55.88%
ทั้งนี้ ปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 284,613 คัน แบ่งออกเป็นประเภท BEV จำนวน 18,644 คัน คิดเป็น 6.55%, ประเภท HEV จำนวน 228,894 คัน คิดเป็น 80.42% และประเภท PHEV จำนวน 37,075 คัน คิดเป็น 13.03%
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP