*บทความนี้การเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ The Woman Who Ran
The Woman Who Ran (อยากให้โลกนี้ไม่มีเธอ) คือผลงานภาพยนตร์นอกกระแสของผู้กำกับ ฮองซางซู ที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ไปเมื่อปี 2020 ด้วยการนำเสนอมุมมองและแง่คิดที่น่าสนใจของ ‘ผู้หญิง’ ผ่านการเดินทางของหญิงสาวคนหนึ่งนามว่า กัมมี (รับบทโดย คิมมินฮี) ที่จะค่อยๆ พาผู้ชมเข้าไปสำรวจถึงเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และความรู้สึกของ ‘ผู้หญิง’ ในสังคม
โดย The Woman Who Ran จะบอกเล่าเรื่องราวของ กัมมี หญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องห่างกับคนรัก เนื่องจากเขาต้องเดินทางไปทำงานในที่ที่ห่างไกล โดยตัวเธอใช้เวลาว่างที่ต้องอยู่ตัวคนเดียวด้วยการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะพูดคุยกับเพื่อนสาวทั้ง 3 คนของเธอ ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นก็มักจะลงเอยด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความไร้สาระเสียเป็นส่วนใหญ่ ไปจนถึงการค้นพบบางสิ่งที่ตัวเธอไม่เคยคิดถึงมันมาก่อนในชีวิต
ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อปี 2020 มันช่างชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อย่าง Kim Ji-young, Born 1982 (2019) เป็นอย่างมาก เพราะภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนั้นค่อนข้างจะพูดถึงประเด็นหลักสำคัญที่คล้ายคลึงกันอย่าง ‘การเป็นผู้หญิง’
เพียงแต่สำหรับ The Woman Who Ran นั้นค่อนข้างจะมีความแตกต่างออกไป ตรงที่ภาพยนตร์ไม่ได้มีโครงหรือสตอรีอะไรให้ตัวละครต้องยึดจับมากมายนัก ทำให้มันเป็นเหมือนการพาคนดูไปนั่งอยู่ท่ามกลางวงสนทนาเมาท์มอยตามประสาชีวิตของผู้หญิงเสียมากกว่า
เพราะเรื่องราวและเนื้อหาของภาพยนตร์นั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยฉากการสนทนาระหว่างตัวละครเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นก็มีตั้งแต่เรื่องราวในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องไร้สาระบนโต๊ะอาหาร
เพียงแต่หากมองดูให้ดี ภายใต้บทสนทนาที่ถูกเคลือบด้วยเรื่องราวชีวิตประจำวันและความไร้สาระนั้น มันกลับซ่อนแง่คิดและความปวดร้าวของการเป็น ‘ผู้หญิง’ อยู่ โดยแต่ละหมุดหมายที่กัมมีไปนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเหมือนเดิมทุกครั้งก็คือ การที่หญิงสาวมักจะพูดประโยคหนึ่งให้กับเพื่อนของเธอทุกคนฟังอยู่เสมอ ซึ่งแต่ละคนก็มีปฏิกิริยาแตกต่างกันออกไปเมื่อได้ยิน
“เราอยู่ด้วยกันตลอด เราไม่เคยห่างกันเลย เขาบอกว่าคนที่รักกันควรอยู่ด้วยกันตลอด เขาบอกมันเป็นเรื่องธรรมชาติ นี่เป็นครั้งแรกที่เราห่างกันในรอบ 5 ปีเลย”
ฟังดูผิวเผินแล้วก็อาจจะเป็นประโยคที่ดูไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งชื่อของภาพยนตร์ The Woman Who Ran ในภาษาไทยนั้นก็คือ ‘อยากให้โลกนี้ไม่มีเธอ’ ซึ่งบางทีการที่กัมมีย้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ นั้นก็อาจจะเป็นเพราะว่า ตัวเธอกำลังต้องการที่จะวิ่งหนีจากบางสิ่งในชีวิตอยู่ก็เป็นได้ แต่ภาพยนตร์ก็ไม่ได้บอกกล่าวอะไรกับคนดูอย่างเราชัดเจนนักว่า การที่กัมมีจะต้องห่างกับคนรักของเธอนั้นมันเป็นเพราะเขาไปทำงานในที่ที่ห่างไกลออกไปจริงๆ หรือเป็นเพราะเหตุผลอื่นกันแน่? ทำให้เรื่องราวของกัมมีนั้นสามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบตามแต่ที่คนดูจะคิด
หากเป็นในมุมมองของผู้เขียน บางทีความสัมพันธ์ที่ยาวนานถึง 5 ปีระหว่างตัวเธอกับคนรักนั้นอาจจะขาดสะบั้นลงแล้วก็เป็นได้ กัมมีเป็นเหมือนคนอกหักที่กำลังต้องการใครสักคนคอยรับฟังเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของเธอ และการที่หญิงสาวมักจะย้ำประโยคเดิมๆ อยู่เสมอ ก็อาจจะเป็นการโกหกกับตัวเองว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับคนรักนั้นยังคงอยู่ดีมีความสุข
แต่แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ซึ่งมันทำให้การออกเดินทางในครั้งนี้ของเธอ เป็นเหมือนการมองหาหนทางข้างหน้าของตัวเอง ว่าควรจะใช้ชีวิตต่อไปแบบไหนเมื่อปราศจากคนรัก ผ่านมุมมองที่ได้รับมาจากเพื่อนทั้ง 3 คนของเธอ
แม้เรื่องราวของกัมมีจะชวนให้คนดูอย่างเราได้ขบคิดกันมากแค่ไหน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของเธอเลยก็คือ สถานการณ์ภายในเรื่องที่นำไปสู่การสะท้อนสังคม ยกตัวอย่างเช่น สถานที่แรกที่กัมมีไปเยือนก็คือ บ้านของ ยงซุน รุ่นพี่ที่สนิทกันของเธอ ซึ่งเรื่องราวก็เริ่มต้นที่บทสนทนาระหว่างคนทั้งสอง ไปจนถึงการนั่งกินเนื้อย่างและพูดคุยกันถึงเรื่องราวสัพเพเหระต่างๆ ในชีวิตของกันและกัน ที่มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้างตามประสาผู้หญิง
จนกระทั่ง ‘ผู้ชาย’ คนหนึ่งได้รุกล้ำเข้ามาภายในโลกของพวกเธอ โดยที่ตัวเขานั้นได้เข้ามาเพื่อขอให้ยงซุนและรูมเมตของเธอเลิกให้อาหารแมว เนื่องจากภรรยาของตัวเองเป็นคนกลัวแมว ซึ่งการพูดคุยก็ดูเหมือนจะเป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีการขึ้นเสียงหรือตอบโต้อะไรที่รุนแรง การสนทนาระหว่างคนทั้งสองนั้นจึงเป็นเพียงแค่การพูดคุยถกเถียงที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีใครยอมใคร
มองเข้าไปแล้วมันก็อาจจะดูเหมือนเหตุการณ์ปกติที่คนเราสามารถพบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำ เพียงแต่ภายใต้สถานการณ์อันคุกรุ่นของทั้งสองฝ่ายนั้นในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่ภาพยนตร์อย่าง The Woman Who Ran ต้องการจะสื่ออาจตีความได้ถึงสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ในชีวิตของพวกเขาคิดว่าตนนั้นมีอำนาจอยู่เหนือกว่าผู้หญิง และสามารถที่จะชี้นิ้วสั่งให้พวกเธอทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่ในทางกลับกันเมื่อไรก็ตามที่ผู้หญิงไม่ใช่ตัวคนเดียวอีกต่อไป ความมั่นใจที่เคยมีเหล่านั้นก็จะหดหายไปจนหมดสิ้น
ซึ่งเนื้อหาที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ‘เพศสภาพ’ ที่มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เอาไว้ใช้กดหัวของผู้หญิงลงเท่านั้น แต่ในบางครั้งมันยังเป็นตัวตัดสินที่ไม่ยุติธรรมที่สุดในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน
นอกจากสถานที่แรกที่เธอไปเยือนจะแฝงไปด้วยบริบทที่สะท้อนสังคมแล้ว อีกสองที่ที่รอกัมมีอยู่ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่มันอาจถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของ ‘อำนาจเพศสภาพ’ ที่ขึ้นอยู่กับฐานะ หรือบริบททางสังคมเท่านั้นเอง ซึ่งบางทีสำหรับผู้ชายและผู้หญิงนั้น ‘ความงี่เง่า’ ก็อาจจะไม่ได้เข้าใครออกใครไปมากกว่ากันหรอก
และไม่เพียงแค่สถานที่แรกเท่านั้นที่มีการปรากฏตัวของ ‘ผู้ชาย’ เพราะภาพยนตร์เลือกที่จะใส่ตัวละครชายเอาไว้ภายในช่วงท้ายของแต่ละหมุดหมายที่กัมมีเดินทางไปตลอด โดยที่พวกเขาเหล่านั้นก็มักจะวางท่าทียำเกรงอยากจะเอาชนะผู้หญิงอยู่เสมอ เพียงแต่จะมากจะน้อย หรือจะออกมาเป็นในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง
แต่ถึงอย่างนั้นภาพยนตร์ก็เลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ชายโดยใช้เพียงแค่การถ่ายทำจากด้านหลัง หรือด้านข้างเท่านั้น เหมือนกับว่าต้องการจะบอกกับคนดูกรายๆ ว่า แม้ผู้ชายอาจจะเป็นใหญ่ในโลกใบนี้ก็จริง แต่ที่นี่คือโลกของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว และในชีวิตของผู้หญิงเองต่างก็เต็มไปด้วยเรื่องราวสัพเพเหระมากมายในชีวิตให้พูดถึงอยู่ตลอด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของผู้ชายก็ตาม
ถึงแม้สุดท้ายภาพยนตร์จะพาคนดูเข้าไปนั่งอยู่ท่ามกลางวงสนทนามากมายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และเรื่องไร้สาระเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ภายใต้ฉากหน้าของบทสนทนาเหล่านั้น มันกลับฝากแง่คิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิง และอำนาจทางเพศสภาพในสังคมให้กับคนดูได้ไปขบคิดกันต่อ
และผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนก็คงยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ของฮองซางซู เป็นผลงานที่ดูง่ายที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ทั้งหมดของเขาด้วยเช่นกัน
สามารถรับชม The Woman Who Ran (อยากให้โลกนี้ไม่มีเธอ) ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix