×

จิรัฏฐ์ ก้าวไกล อภิปราย ‘ไม้ล้างป่าช้า’ ผ่านมา 13 ปี คนอนุมัติจัดซื้อ GT200 ไม่ถูกดำเนินคดี บริษัทที่ขายได้งานจากกองทัพต่อ

โดย THE STANDARD TEAM
20.07.2022
  • LOADING...
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์

วันนี้ (20 กรกฎาคม) จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง

 

จิรัฏฐ์กล่าวว่า คดี GT200 ถือเป็นมหกรรมการทุจริตครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในช่วงปี 2549-2552 จากการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องค้นหาวัตถุระเบิดและสารเสพติดต่างๆ ที่ต่อมาถูกแหกตาว่าไร้คุณภาพ จนมีการให้ฉายาความห่วยแตกว่าไม่ต่างอะไรกับ ‘ไม้ล้างป่าช้า’ ส่วนสาเหตุที่สังคมไทยไม่ลืมเรื่องค่าโง่ GT200 ทั้งที่ผ่านมาแล้ว 13 ปี ก็เพราะยังคงมีคำถามที่ยังไม่เคยได้รับคำตอบว่า ใครต้องรับผิดชอบจากการจัดซื้อเครื่อง GT200

 

“ปัญหาสำคัญของการจัดซื้อเครื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทุจริตที่ทำให้ประเทศชาติสูญเงินฟรีนับพันล้าน แต่ยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทหารและพลเรือนหลายคนได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดเพราะเครื่องที่ใช้การไม่ได้ ทั้งยังทำให้ผู้บริสุทธิ์นับร้อยรายต้องโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการโดนคุมขัง ดำเนินคดี เพราะเครื่องชี้ผิดชี้ถูก ดังนั้น เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เพียงได้เงินคืนแล้วจบ แต่ต้องมีการเอาผิดไปถึงผู้ที่อนุมัติการซื้อเครื่องนี้เข้ามา เพราะมันได้ทำร้ายชีวิตของผู้คนไปมากมาย” จิรัฏฐ์กล่าว

 

จิรัฏฐ์กล่าวต่อไปว่า คดีนี้เพิ่งมีความคืบหน้าไปอีกขั้น โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา อัยการสูงสุด โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพ ได้ยื่นฟ้องทหารจำนวน 22 คน ในข้อหากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท สำนวนนี้รับต่อจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีมติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย แต่ประเด็นสำคัญคือ คดีนี้กลับชี้ไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติเลย ทั้งที่ GT200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ. อนุพงษ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ. ประวิตร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น

 

“การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผบ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ. อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ. ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ก็มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาทด้วยเช่นกัน เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป” จิรัฏฐ์กล่าว

 

จิรัฏฐ์ยังยืนยันด้วยว่า คดีนี้มองมุมไหนก็ส่อเค้าทุจริต และ พล.อ. อนุพงษ์ และ พล.อ. ประวิตร ต้องรับผิดชอบด้วย แต่สาเหตุที่ไม่สามารถนำไปสู่การชี้มูลความผิดได้ เพราะ ป.ป.ช. ซึ่งรู้กันว่ามีที่มาเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เพิกเฉยในการทำหน้าที่ จึงไม่สามารถไปสู่การดำเนินคดีต่อได้ ตามที่พนักงานอัยการท่านหนึ่งมีความเห็นไว้ในเอกสาร อก.4 ว่า

 

“พล.อ. ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อ ในการจัดซื้อครั้งที่ 4 / 7 / 12, อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อ ในการจัดซื้อครั้งที่ 2 / 3 / 6 / 7 / 8 / 11, เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อ ในการจัดซื้อครั้งที่ 1 / 5 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อ แต่ไม่ได้ดำเนินการตามนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้ เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้”

 

“คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อ ผู้บัญชาการทหารบกผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อ อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวได้ 

 

“อนึ่ง การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติในการจัดซื้อ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงเห็นว่าการไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” จิรัฏฐ์กล่าว

 

จิรัฏฐ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากกรณีที่คนเซ็นอนุมัติไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว ภายหลังการรัฐประหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ การหาความจริงในคดีนี้จากหน่วยงานตรวจยิ่งหายไปเลย ขณะที่เมื่อหันไปดูฝั่งผู้ขาย คือ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (Avia Satcom Co Ltd) ซึ่งขาย GT200 ให้กับทุกหน่วยงานในกองทัพ รวมถึงกองทัพบกที่อ้างมาตลอดว่าโดนหลอก พบว่ากว่าจะดำเนินคดีกับ 18 มงกุฎที่มาหลอกได้ ใช้เวลาคิดอยู่ 7 ปี โดยเพิ่งจะยื่นฟ้องเมื่อปี 2560 คดีถึงที่สิ้นสุดในปี 2565 ศาลปกครองลงโทษให้กรรมการหนึ่งคนของ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ต้องชดใช้เงิน 683 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย แต่ต่อมาศาลได้ให้ประกันตัว และได้ข่าวว่าย้ายไปอยู่อังกฤษนานแล้ว จึงไม่รู้ว่าถึงชนะจะได้เงินคืนหรือไม่

 

ทั้งนี้ จิรัฏฐ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ แม้กองทัพจะอ้างว่าโดน เอวิเอ แซทคอม หลอก แต่กลับพบว่าหลังการรัฐประหารปี 2557-2565 บริษัทในก๊วนเดียวกันกับเครือนี้ยังคงได้รับการประเคนงานจากกองทัพและกระทรวงกลาโหมอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท และโครงการเกือบทั้งหมดเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ไม่มีการประมูลและสืบราคา และประเด็นสำคัญคือประธานอาวุโสของ เอวิเอ แซทคอม มีชื่อว่า พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี คีย์แมนคนสำคัญในการรัฐประหาร 2549 และเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 รุ่นเดียวกับ พล.อ. ประวิตร มีผลงานเด่นๆ เช่น นำเข้าฝูงบินกริพเพนที่ราคาแพงเกินจริง โครงการจัดซื้อโดรนต่างๆ ความปลอดภัยไซเบอร์ หลังรัฐประหารเคยได้เป็นทั้ง สนช., รองปลัดกระทรวงกลาโหม และประธาน กสทช. ควบตำแหน่ง ผอ. สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่มีโครงการทำวิจัยภายใต้ข้อตกลงรูปแบบความร่วมมือมากมายกับ เอวิเอ แซทคอม ซึ่งเป็นบริษัทตัวเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X