วันนี้ (19 กรกฎาคม) สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ชี้แจงถึงประเด็น ‘โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ว่า ตลอดระยะเวลาการให้บริการกับประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 BTSC ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อสัญญาที่ทำไว้กับทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT และกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเคร่งครัด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา BTSC จะเคยประสบกับปัญหาสถานภาพทางการเงินอย่างหนัก จนต้องนำบริษัทเข้าฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากต้องรับภาระลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงโครงการเดียวในประเทศไทยที่กำหนดให้เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด รวมถึงงานโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ BTSC ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จำนวนรวมกว่า 40,000 ล้านบาท อันเนื่องมาจากการไม่ได้รับชำระค่าจ้างจากการเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ต้องมีการกู้เงินมาใช้จ่ายจำนวนมาก อีกทั้งวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมาก แต่ BTSC ก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดให้บริการ พร้อมดูแลผู้โดยสารในทุกพื้นที่สถานี และจัดให้มีขบวนรถไฟฟ้า BTS ออกให้บริการอย่างเพียงพอ แม้รู้ว่ารายได้ที่เข้ามานั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ที่สำคัญ ตลอดระยะเวลาในการบริการตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ทาง BTSC ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารไปเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น และทุกครั้งที่ดำเนินการปรับค่าโดยสาร ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติจาก กทม. ทั้งสิ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน โดยเมื่อเปิดให้บริการช่วงแรก 23 สถานี ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ในปี 2542 คิดอัตราค่าโดยสาร 10-40 บาท แต่เพดานค่าโดยสารสูงสุดที่ กทม. กำหนดไว้ให้คือ 15-45 บาท และการปรับขึ้นค่าโดยสารทั้ง 3 ครั้งที่เกิดขึ้นนั้น แบ่งเป็น
- ครั้งที่ 1 ปี 2550 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15-40 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 18.79-56.36 บาท
- ครั้งที่ 2 ปี 2556 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15-42 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 20.11-60.31 บาท
- ครั้งที่ 3 ปี 2560 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 16-44 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 21.52-64.53 บาท
ส่วนกรณีที่มีการทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 นั้น เพราะต้องการให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนขบวน ซึ่งทุกฝ่ายในคณะทำงานขณะนั้นเห็นว่าการว่าจ้างเป็นระยะเวลาดังกล่าวมีความเหมาะสม สืบเนื่องจากหากว่ามีการจ้างในระยะเวลาสั้นกว่านี้ เช่น ให้การจ้างสิ้นสุดในปี 2572 พร้อมกับสัมปทานในส่วนเส้นทางหลัก ค่าจ้างเดินรถต่อปีก็จะสูงกว่านี้ เพราะค่าใช้จ่ายที่เป็นการลงทุนของ BTSC เช่น ขบวนรถไฟฟ้า จะต้องหารด้วยจำนวนปีที่น้อยลง เป็นต้น โดยในส่วนต่อขยายที่ 1 ได้ลงนามเป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2585 และส่วนต่อขยายที่ 2 ก็ได้ให้เหตุผลเดียวกัน เพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนใช้รถไฟฟ้าในเส้นทางเดียวกันได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้ลงนามในสัญญาทั้งสิ้น 25 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2585 นั่นเพื่อให้สัญญาส่วนต่อขยายทั้งสองส่วนหมดอายุพร้อมกัน ซึ่งในระหว่างการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 ก็ยังไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสาร และ KT ไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดินรถ จนเกิดเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น
BTSC ขอยืนยันว่า พร้อมเจรจากับทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาทั้งหมด หากอยู่บนเงื่อนไขของความถูกต้อง และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และรักษาสัญญาที่มีต่อกัน เพราะในฐานะที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนกว่า 101,700 ราย รวมถึงมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่ BTSC มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา BTSC ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด
สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาให้บริการเดินรถระหว่าง KT และ BTSC มีข้อสัญญาเรื่องรักษาความลับอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่จะกำหนดในสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและป้องกันความเสียหายจากการใช้ข้อมูลของคู่สัญญาทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน โดยข้อสัญญารักษาความลับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันการตรวจสอบความโปร่งใสและทุจริต เนื่องจากข้อสัญญารักษาความลับได้มีการกำหนดข้อยกเว้นให้สามารถเปิดเผยข้อมูลในสัญญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามคำสั่งของหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 BTSC ก็รับทราบว่ามีองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการตรวจสอบ และได้ไปซึ่งสัญญาให้บริการเดินรถแล้ว
อย่างไรก็ตาม ได้รับทราบจาก KT ว่า ได้ส่งมอบข้อมูลกับ กทม. แล้วในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ BTSC
ขอเรียนว่าเรื่องนี้อยู่ในดุลพินิจของ กทม. ที่จะพิจารณาว่าสามารถเปิดเผยอย่างไร และเพียงใดภายใต้ข้อสัญญารักษาความลับดังกล่าว แต่ BTSC ขอเรียนว่า เนื่องจากข้อมูลบางส่วนในสัญญาเป็นข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า และสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ จึงต้องมีความระมัดระวังในการเปิดเผย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากจำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญดังกล่าว ก็ควรจะเปิดข้อมูลในสัญญาของทุกๆ โครงการเฉกเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน
สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนแนวทางการขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจาก BTSC แต่อย่างใด แต่เป็นผลของการเจรจากับคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ กทม. ซึ่ง BTSC เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย จึงได้รับที่จะมีการแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว BTSC ขอเรียนว่า ขณะนี้ BTSC ต้องการเพียงให้มีการชำระหนี้ที่ค้างชำระกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการและชำระหนี้ของ BTSC ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการนี้ ทั้งนี้ BTSC ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งได้รับทราบจากทาง KT ว่า อยากมีการตกลงชำระหนี้ดังกล่าว โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลโดยเร็วที่สุด