อย่างที่เราทราบกันดีว่า ขณะนี้ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุไม่แพ้กัน โดยประชาชนยังคงปักหลักประท้วงต่อ แม้อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา จะยอมลาออกและหนีออกจากประเทศแล้ว เพราะยังเหลือ รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีที่ตั้งตนเป็นรักษาการแทนประธานาธิบดี ซึ่งผู้ประท้วงยังคงไม่พอใจที่ชายผู้นี้ยังกุมอำนาจทางการเมืองในประเทศไว้ และคาดว่าเราจะได้เห็นสถานการณ์ที่ร้อนระอุยิ่งกว่าเดิม หากผลออกมาว่าวิกรมสิงเหคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีในการเลือกตั้งของรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (20 กรกฎาคม)
แต่หากเรามองย้อนกลับไปในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการเมืองนั้น จะเห็นได้ว่ารากของปมปัญหามาจากการเป็นหนี้ในระดับสูง ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ล้มเหลว จนทำให้แทบจะไม่เหลือพอสำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าสถานการณ์ในศรีลังกาอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีหนี้สินจำนวนมาก เพราะนอกจากปัญหาด้านการเงินการคลังของแต่ละประเทศแล้ว ขณะนี้โลกเรายังเผชิญกับวิกฤตอาหารและพลังงานซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนโควิดก็ยังไม่ทันจางหาย ซึ่งเมื่อทุกปัญหามาบรรจบกัน ก็อาจทำให้ประเทศที่อ่อนแอต้องมีจุดจบไม่ต่างจากศรีลังกา
ส่องสถานการณ์ในเอเชียน่ากังวลแค่ไหน?
- แม้ตอนนี้สื่อจากทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับศรีลังกาเป็นพิเศษจากสถานการณ์ที่กำลังร้อนแรง แต่เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมว่า ขณะนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นผลพวงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ค่าเงินที่อ่อนตัวลง หนี้สินในระดับสูง และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
- ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศกำลังพัฒนา 38 ประเทศที่กำลังประสบปัญหาหนี้สินหรือมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้ในระดับสูง ซึ่งหนึ่งในบรรดาประเทศที่น่ากังวลที่สุดคือปากีสถาน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียของเรา
‘ปากีสถาน’ ราคาน้ำมันพุ่ง 90% ประชาชนแบกค่าครองชีพหนักอึ้ง
- เริ่มต้นจากปากีสถานที่ติดลิสต์ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงของ IMF ปัจจุบัน ราคาเชื้อเพลิงในปากีสถานได้พุ่งสูงขึ้นราว 90% นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หลังจากที่รัฐบาลใหม่ซึ่งเข้ามามีอำนาจในเดือนเมษายนได้ยุติเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง
- นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศเรียกเก็บภาษี 10% จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากต้องการลดช่องว่างระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของรัฐ เพื่อเดินหน้าเจรจาโครงการขอรับเงินช่วยเหลือจาก IMF
- ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะ 21.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศต้องขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือประชาชนต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากไปโดยปริยาย
- ส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็ร่อยหรอลงเหลือเพียง 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการนำเข้าสินค้าแค่ 2 เดือนเท่านั้น โดยรายงานล่าสุดระบุว่า เงินส่วนดังกล่าวลดลงเกือบครึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
- ส่วนสถานการณ์ในภาคการเมืองนั้นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับศรีลังกา โดยนับตั้งแต่ปี 2020 ประชาชนได้ออกมาประท้วงขับไล่ อิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง เพราะเชื่อว่ารัฐบาลโกงการเลือกตั้งโดยมีกองทัพช่วยหนุนหลัง ประกอบกับการบริหารบ้านเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก จนท้ายที่สุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข่านก็ถูกโค่นลงจากอำนาจ เนื่องจากพ่ายแพ้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยถูกฝ่ายค้านโจมตีเรื่องการบริหารเศรษฐกิจและนโยบายการต่างประเทศที่ล้มเหลว
- นอกจากนี้ ปากีสถานยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศลดวันทำงาน ขณะประเทศประสบภาวะไฟฟ้าดับเป็นเวลานานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน
- นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลใหม่ของปากีสถานภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) จะต้องเร่งเจรจากับ IMF เพื่อเข้าถึงเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านดอลลาร์แล้ว ปากีสถานยังอาจเป็นอีกชาติหนึ่งที่หันไปซบอกจีนเพื่อเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจุบันปากีสถานมีหนี้สินกับจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของยอดหนี้ต่างประเทศทั้งหมด
‘ลาว’ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศเป็นรายต่อไป
- ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างลาว ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มีความเสี่ยงสูงที่ลาวจะผิดนัดชำระหนี้เป็นประเทศต่อไปถัดจากศรีลังกา
- เมื่อปี 2021 ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ยอดหนี้สาธารณะของลาวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 88% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมมูลค่า 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเป็นหนี้เงินกู้กับจีนในสัดส่วนกว่าครึ่ง
- Moody’s Investors Service ได้ปรับลดอันดับเครดิตลาวไปอยู่ในกลุ่ม Junk เนื่องจากภาระหนี้สินที่สูงมาก และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้เมื่อครบกำหนดในรอบต่อไป
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากปัญหาสงครามในยูเครน ได้ทำให้ซัพพลายพลังงานในลาวเผชิญกับความตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนอาหารในประเทศทะยานสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรยากจน ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ
- สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประชาชนชาวลาวเองก็ต้องต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อน้ำมันไม่ต่างจากศรีลังกา ขณะที่หลายครัวเรือนไม่สามารถจ่ายหนี้สินของตัวเองได้
- นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ค่าเงินกีบของลาวอ่อนตัวลงอย่างมาก ส่วนอัตราเงินเฟ้อได้พุ่งแตะระดับ 23.6% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่การขาดแคลนทุนสำรองในรูปสกุลเงินดอลลาร์ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันและสินค้าจำเป็นอื่นๆ โดยข้อมูลจากธนาคารโลกประมาณการว่า ลาวมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเพื่อนำเข้าสินค้าแค่ 2 เดือนเท่านั้น
‘บังกลาเทศ’ เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี
- ปัจจุบัน ชาวบังกลาเทศเองก็มีความวิตกกังวลว่า ประเทศจะมีจุดจบไม่ต่างจากศรีลังกา เนื่องจากตัวเลขขาดดุลการค้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหนี้สินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง
- นักวิเคราะห์ระบุว่า หากยอดนำเข้าสูงกว่ายอดส่งออกต่อไปเช่นนี้ อาจส่งผลให้ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงจนอยู่ในระดับอันตรายในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงได้เร่งควบคุมการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น และลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางไปต่างประเทศของเจ้าหน้าที่รัฐ
- นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผ่อนคลายข้อจำกัดหลายประการเพื่อหวังดึงดูดเม็ดเงินส่งกลับจากชาวบังกลาเทศที่ไปทำงานในต่างแดน
- เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของบังกลาเทศพุ่งขึ้นแตะ 7.42% หรือสูงสุดในรอบ 8 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากสงครามในยูเครน ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มยากจนไม่สามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้
- คิมอิงแทน นักวิเคราะห์ของ S&P Global Ratings เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่าบังกลาเทศจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญในแง่ของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเสียใหม่ และอาจต้องออกข้อจำกัดในด้านกิจกรรมผู้บริโภคด้วย
ประเทศที่มีระดับหนี้สินสูงควรเร่งถอดบทเรียนจากศรีลังกา
- เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 กรกฎาคม) คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF ได้กล่าวเตือนว่า ประเทศที่มีระดับหนี้สินสูงและมีนโยบายทางการเงินที่จำกัดจ่อเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และควรดูศรีลังกาเป็นตัวอย่างของสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว
- ถึงแม้รัฐบาลศรีลังกาจะพยายามขอความช่วยเหลือจาก IMF แต่สภาวะการเมืองที่ไร้เสถียรภาพเนื่องจากความโกรธแค้นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ก็ยิ่งยากที่ IMF จะพิจารณามอบเงินดังกล่าวให้
- ปัจจุบันศรีลังกาไม่สามารถหาเงินมานำเข้าสินค้าจำเป็นอย่างอาหาร เชื้อเพลิง หรือแม้กระทั่งยารักษาโรค ขณะที่เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นถึง 50% ส่วนราคาอาหารในประเทศทะยานขึ้นกว่า 80% เมื่อเทียบรายปี
- ขณะที่ค่าเงินรูปีศรีลังการ่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินหลักอื่นๆ ของโลก
- เธอกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาต่างประสบปัญหาการไหลออกของเงินทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ทำให้ความฝันของพวกเขาที่จะตามทันประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่งห่างไกลออกไปจากเดิม
- คาร์เมน ไรน์ฮาร์ต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก กล่าวเช่นกันว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงด้านวิกฤตหนี้สินสูงมากเป็นพิเศษ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะต้องออกมาตรการลดหนี้สินอย่างจริงจัง
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เราจึงสามารถตีความได้ว่า สถานการณ์ในศรีลังกาอาจเป็นสัญญาณเตือนให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งกำลังเจอกับวิกฤตหนี้สินที่สูงล้นพ้น จนอาจนำมาซึ่งวงจรการผิดนัดชำระหนี้ที่ล้มตามกันเป็นโดมิโน นี่จึงถือเป็นบททดสอบของรัฐบาลแต่ละชาติที่จะต้องเร่งหามาตรการรับมือที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเพียงพอ
ภาพ: Abhishek Chinnappa / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.ft.com/content/08c6d823-9d2b-4e63-b5b9-d343121f7648
- https://www.wsj.com/articles/sri-lanka-crisis-flashes-warning-for-other-indebted-economies-11657473277
- https://www.bbc.com/news/business-61976928
- https://time.com/6178046/sri-lanka-default-developing-nations/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-27/world-bank-s-reinhart-sees-more-debt-distress-risks-emerging?srnd=markets-vp#xj4y7vzkg
- https://www.dhakatribune.com/world/2022/07/06/sri-lankas-crisis-rings-alarm-for-other-troubled-economies
- https://www.dw.com/en/is-bangladesh-heading-toward-a-sri-lanka-like-crisis/a-61838597