กรณี เงินเฟ้อ ทั่วโลก ผลการสำรวจข้อมูลของมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า ชาวอเมริกันรู้สึกดีขึ้นเล็กน้อยเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดตลอดกาล
รายงานระบุว่า ดัชนีเบื้องต้นสำหรับการสำรวจผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็น 51.1 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50 จุด ในเดือนมิถุนายน
ด้าน Joanne Hsu ผู้อำนวยการ Surveys of Consumers เปิดเผยว่า สัดส่วนของผู้บริโภคที่ออกมากล่าวโทษเงินเฟ้อที่มีผลต่อมาตรฐานการครองชีพเพิ่มขึ้นเป็น 49% ซึ่งตรงกับระดับสูงสุดตลอดกาลในช่วง Great Recession หรือภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในอดีต พร้อมมองว่ามุมมองเชิงลบเหล่านี้ยังคงมีอยู่ แม้ราคาน้ำมันจะเริ่มลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม
การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าความคาดหวังสำหรับอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกณฑ์สำหรับระดับเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ลดลงเหลือ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 2.9-3.1% ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ในส่วนของแนวโน้มความเคลื่อนไหวและทิศทางตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์นี้ เหล่านักลงทุนมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักความสำคัญกับรายงานผลประกอบการของบริษัทต่างๆ หลังจากที่ตลาดผันผวนจากความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นมีความผันผวนมาก โดยดัชนีหลักสามรายการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในวันศุกร์ หลังจากกังวลว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังคงขาดทุนรายสัปดาห์ โดยดัชนี S&P 500 ลดลงเกือบ 1% มาอยู่ที่ 3,863.16 จุด
ขณะที่นักกลยุทธ์ส่วนหนึ่งมองว่า ขณะนี้มีโอกาสราว 20% ที่ Fed จะปรับดอกเบี้ย 1% และความผันผวนที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นผลจากความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดมากกว่า
ทั้งนี้ นักกลยุทธ์คาดการณ์ว่า ฤดูกาลผลประกอบการไตรมาสสองจะประกอบด้วยความผิดหวังและการปรับลดคาดการณ์การเติบโต เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนพนักงาน และเศรษฐกิจชะลอตัว
อ้างอิง: