เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตอบโต้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กรณีที่ไบเดนหยิบยกกรณีสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวซาอุดีอาระเบีย มาพูดคุยในระหว่างที่ผู้นำทั้งสองพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก
ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางเยือนพระราชวังอัลซัลมาน ในเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าพบกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 กรกฎาคม) ซึ่งไบเดนเปิดเผยว่า ในระหว่างการพูดคุยกันนั้น มกุฎราชกุมารปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของคาช็อกกีที่สถานกงสุลซาอุในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อปี 2018 และยังคงปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารในครั้งนั้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ไบเดนแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อประเด็นการลอบสังหารคาช็อกกี โดยกล่าวว่าคำกล่าวอ้างของเจ้าชายขัดแย้งกับข่าวกรองของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ออกมาให้รายละเอียดบางส่วนของการสนทนาระหว่างผู้นำทั้งสองในการแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ว่า มกุฎราชกุมารได้ตอบโต้ผู้นำสหรัฐฯ ด้วยการยกคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ทำทารุณกรรมทางเพศและทางร่างกายต่อนักโทษในเรือนจำอาบูกราอิบของอิรัก รวมถึงการเสียชีวิตของ ชิรีน อาบู อัคเลห์ นักข่าวชาวปาเลสไตน์-อเมริกัน ของสำนักข่าว Al Jazeera ในเขตเวสต์แบงก์ของอิสราเอล
บิน ฟาร์ฮาน กล่าวว่า “มกุฎราชกุมารตอบคำกล่าวของประธานาธิบดีไบเดนเกี่ยวกับ… คาช็อกกีชัดเจนมากว่า แม้อาชญากรรมดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่โชคร้ายและน่าชิงชัง แต่ก็เป็นสิ่งที่ราชอาณาจักรซาอุดำเนินการอย่างจริงจัง และปฏิบัติด้วยความสงสารเห็นใจในฐานะที่ซาอุเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ
“สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาและข้อผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา มกุฎราชกุมารทรงเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ เองก็เคยทำผิดพลาดและดำเนินการที่จำเป็นเพื่อนำตัวผู้รับผิดชอบมารับผิดชอบ และจัดการแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้เช่นเดียวกับราชอาณาจักรซาอุ”
ด้าน อาเดล อัล-จูเบียร์ รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย ได้สะท้อนบรรยากาศการหารือดังกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า
“เราสอบสวน ลงโทษ และทำให้แน่ใจว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก” จูเบียร์กล่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการฆาตกรรมคาช็อกกี “นี่คือสิ่งที่ประเทศต่างๆ ทำ นี่คือสิ่งที่สหรัฐฯ ทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาบูกราอิบ”
ทั้งนี้ เรือนจำอาบูกราอิบเป็นสถานที่ที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ในการคุมขังชาวอิรักที่ถูกจับได้ตั้งแต่ที่สหรัฐฯ เริ่มบุกเข้าทำสงครามในอิรักเมื่อปี 2003 โดยในปี 2004 มีภาพกราฟิกจำนวนมากจากเรือนจำรั่วไหลออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทรมานและการล่วงละเมิดทางเพศนักโทษอิรักโดยเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ จนกระทั่งในที่สุดมีทหารสหรัฐฯ 11 นาย ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับคดีอื้อฉาวดังกล่าว
ภาพ: Royal Court of Saudi Arabia / Handout / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: