×

สัมภาษณ์ Kim Sung Joo หญิงแกร่งผู้โดนตัดขาดด้านทรัพย์สินจากตระกูลดังของเกาหลีใต้ ก่อนสามารถเข้าซื้อแบรนด์ MCM ด้วยตัวเอง

12.07.2022
  • LOADING...
Kim Sung Joo

หากต้องสิสต์รายชื่อผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในแวดวงแฟชั่น ชื่อของ Kim Sung Joo ก็ต้องติดอยู่ในอันดับต้นๆ ร่วมกับ Anna Wintour, Miuccia Prada, Stella McCartney และ Diane Von Furstenberg ฯลฯ เพราะเธอคือผู้หญิงเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถซื้อกิจการแบรนด์ลักชัวรีอย่าง MCM มาได้เมื่อปี 2005 โดยทุกวันนี้ Kim Sung Joo ยังคงดำรงตำแหน่ง Chief Visionary Officer ของ MCM พร้อมผลักดันให้เป็นหนึ่งในแบรนด์หมวด ‘New School Luxury’ ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และใกล้จะแตะยอดขายหลักพันล้านดอลลาร์ต่อปีกับ 700 จุดขาย และ 200 ร้านค้าทั่วโลก

 

ล่าสุด THE STANDARD POP มีโอกาสสัมภาษณ์ Kim Sung Joo ที่กรุงเทพฯ หลังเธอเดินทางมาร่วมงานของ MCM และเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์หลักของงาน Global Summit of Women ที่มีผู้หญิงกว่า 600 คน จาก 70 ประเทศมารวมตัวกัน โดย Kim Sung Joo ได้พูดคุยกับเราทั้งเรื่องธุรกิจ สิ่งที่เธอเรียนรู้จากสถานการณ์โควิด ประเด็นเรื่องความยั่งยืน การช่วยเหลือสังคม อนาคตของ MCM และย้อนกลับไปตั้งแต่โมเมนต์ที่เธอตัดสินใจปฏิเสธการแต่งงานแบบคลุมถุงชนจากพ่อแม่และโดนตัดขาดด้านการเงินทันที แม้จะมาจากหนึ่งในตระกูลระดับพันล้านของเกาหลีใต้ที่พ่อเป็นคนก่อตั้งอย่างบริษัท Daesung Group 

 

Kim Sung Joo

Kim Sung Joo, Billie Eilish และ LL Cool J

 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ต้น เส้นทางในวงการแฟชั่นของคุณเริ่มได้อย่างไร

 

ถือว่าเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมาก เพราะถึงแม้ฉันจะมาจากครอบครัวที่พ่อ (Kim Soo Keon) ก่อตั้งหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ยิ่งใหญ่สุดในเกาหลีใต้ (Daesung Group) แต่เหมือนในหลายสังคมทั่วโลก บทบาทของผู้หญิงมักจะถูกด้อยค่า และคนที่จะมาสานต่อธุรกิจพันล้านก็ต้องเป็นผู้ชาย ซึ่งฉันในฐานะลูกคนเล็กในครอบครัวที่มีพี่น้อง 6 คน ก็คิดว่าวงการแฟชั่นน่าจะเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด เพื่อที่จะได้ทำอะไรเป็นของตัวเอง และฉันเองก็มีแพสชันสำหรับวงการนี้อยู่แล้วด้วย แต่มันไม่ง่ายเหมือนที่คิด

 

หลังจากที่ฉันกลับมาจากการเรียนปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยา ที่อเมริกา ฉันปฏิเสธการแต่งงานแบบคลุมถุงชนจากพ่อแม่ ซึ่งพ่อก็ตัดขาดด้านการเงินกับฉันทันที ฉันจึงกลับไปอเมริกาและหางานทำเองเพื่อให้อยู่รอดที่ห้าง Bloomingdale’s นิวยอร์ก ซึ่งตอนนั้นโด่งดังมาก ฉันได้อยู่แผนก Planning พร้อมทำงานกับซีอีโอ Marvin Traub ซึ่งการได้ทำงานที่ Bloomingdale’s ในฐานะชาวต่างชาติ ถือว่าเป็นเหมือนการเข้าค่ายฝึกซ้อมของวงการแฟชั่นที่โหดมาก

 

ต่อมาในปี 1990 ฉันตัดสินใจกลับเกาหลีใต้และก่อตั้งบริษัท Sung Joo International ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเอเชียเริ่มเปิด และหลายแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ก็สนใจมาลงทุนในประเทศอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น โดยมีหลายแบรนด์ติดต่อมาหาฉันเพื่อให้เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย ตอนนั้นฉันเริ่มด้วย Gucci เป็นแบรนด์แรก ก่อนที่จะขยายมาดูแลแบรนด์ Sonia Rykiel, Yves Saint Laurent และ Marks & Spencer ช่วงที่บูมสุดๆ

 

Kim Sung Joo

ร้าน MCM ที่ Beverly Hills 

 

อะไรทำให้คุณตัดสินใจซื้อ MCM เมื่อปี 2005

 

ประมาณปี 1992 ทาง MCM ติดต่อให้ฉันเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าเหมือนกัน แต่ฉันมองว่าการที่แบรนด์ลักชัวรีจากประเทศเยอรมนีอย่าง MCM จะมาบุกตลาดในตอนนั้นน่าจะยากมาก เพราะคุณต้องต่อสู้กับตลาดของปลอม ตอนนั้นฉันจึงเสนอขอเป็น Licensee คนแรกๆ ของ MCM และขอซื้อชื่อแบรนด์มาผลิตสินค้าเองที่เกาหลีใต้ เพราะราคาจะถูกลง แต่คุณภาพสินค้ายังพรีเมียมอยู่ และเราจะต่อสู้กับตลาดของก๊อบปี้ได้ ซึ่งเขาก็ยอม

 

แต่เหตุผลที่ต่อมาฉันได้มีโอกาสซื้อแบรนด์ MCM เพราะประมาณปี 1997 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทางเจ้าของ MCM ที่เป็นชาวเยอรมันเริ่มมีปัญหาเหมือนกัน แม้แบรนด์กำลังอยู่ในจุดพีคและทำยอดขายสูงว่า Louis Vuitton ในอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง ซึ่งตอนนั้นทางเจ้าของ MCM พยายามหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Fraud) และรัฐบาลเยอรมนีเคร่งเครียดเรื่องนี้และลงโทษหนักมาก เจ้าของเลยขาย MCM ไปให้อีกคนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่คนคนนั้นไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารแบรนด์ลักชัวรีเลย ทำให้ยอดตกลงเรื่อยๆ ฉันจึงไปเคาะประตูและบอกว่าแทนที่เขาจะฆ่ากิจการ MCM ไปทั้งหมด ขายมาให้ฉันเถอะ และฉันจะดูแลให้เอง ซึ่งเขาก็ยอม และถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้หญิงชาวเอเชียสามารถซื้อแบรนด์ลักชัวรีของยุโรปมาดูแลเองได้แบบ 100%

 

Kim Sung Joo

Kim Sung Joo กับ Claudia Schiffer

 

17 ปีต่อมา กิจการของ MCM เป็นอย่างไรบ้าง?

 

ฉันตั้งใจที่จะสร้างทีมที่เป็นระดับ Global จริงๆ โดยตอนนี้เรามีพนักงานกว่า 1,500 คน จาก 40 สัญชาติ ใน 43 ประเทศ กับ 700 จุดขาย และ 200 ร้านของเราเอง ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมากและตื่นเต้นตลอดเวลา หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ MCM เมื่อปี 1976 ต้องบอกว่าหลายคนคิดว่าประเทศเยอรมนีคงผลิตได้แค่รถลักชัวรีอย่างเดียว ไม่น่ามีแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีได้ เพราะตอนนั้นแบรนด์แฟชั่นระดับนั้นมีแค่จากปารีส มิลาน และต่อมาที่นิวยอร์กเท่านั้น ซึ่งมาวันนี้ฉันคิดว่า MCM ได้ก้าวมาเป็นหนึ่งในผู้นำในหมวดของ ‘New Luxury’ ของวงการแฟชั่น นอกเหนือจากรากฐานที่เมืองมิวนิก เราก็เปิดสำนักงานที่เบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี เพราะเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของวัฒนธรรม ดนตรี และศิลปะ รวมถึงเปิดสำนักงานที่โซล บ้านเกิดของฉันด้วย ซึ่ง K-Pop หรือ K-Beauty กำลังฮอตมากตอนนี้ และต่อไปลอสแอนเจลิสน่าจะเป็นที่ต่อไปที่เราจะไปเปิดออฟฟิศใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เพราะเรื่องฮอลลีวูด แต่เพราะเป็นเมืองสำคัญด้านเทคโนโลยี โดยลูกค้ากว่า 65% ของ MCM คือจากกลุ่ม Millennial และ Gen Z ซึ่งคนกลุ่มนี้อยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลา

 

คุณเดินทางมากรุงเทพฯ ครั้งนี้เพราะเหตุผลอะไร?

 

อย่างที่ฉันบอกไปก่อนหน้านี้ ฉันเป็นผู้หญิงที่เคยถูกด้อยค่ามาก่อน แม้แต่ภายในครอบครัวของตัวเอง มาวันนี้ฉันอยากเป็นตัวอย่างให้คนได้เห็นถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถสร้างเส้นทางของตัวเองและสร้างประวัติศาสตร์ โดยสามารถเป็นเจ้าของหนึ่งในแบรนด์ลักชัวรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก

 

แต่ ‘เงิน’ หรือ ‘การมีอำนาจ’ ไม่ได้สำคัญสำหรับฉันไปมากกว่าการมี ‘พันธกิจ’ (Mission) และจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือสังคม และทำให้เห็นว่าพลังของผู้หญิงไม่ควรถูกทิ้งไป โดยฉันมากรุงเทพฯ ครั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงาน Global Summit of Women ที่จะมีผู้หญิงกว่า 600 คน จาก 70 ประเทศ มารวมตัวกัน ซึ่งฉันตื่นเต้นที่จะได้มาสอนคอร์สหนึ่ง และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิง (Economic Empowerment) บวกกับให้แง่คิดการเป็นผู้นำในยุคสมัยนี้ที่ผู้หญิงยังคงเจอความท้าทายมากมาย

 

Kim Sung Joo

Kim Sung Joo ที่งาน The Lady Garden Gala in aid of Silent No More Gynaecological Cancer Fund and Cancer Research ที่ลอนดอน

 

พูดได้ว่าคุณเป็นนักธุรกิจหญิงที่อยากช่วยเหลือผู้หญิงในสังคม?

 

ฉันมองว่ามันเป็นหน้าที่ของเราซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ต้องช่วยเหลือสังคมด้วย ฉันมีองค์กรการกุศลของตัวเองชื่อ Sungjoo Foundation โดย 10% ของกำไรสุทธิ (Net Profit) ของ MCM เราบริจาคให้แก่องค์กร NGO มาแล้ว 50-60 องค์กร เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้ แต่รวมถึงเกาหลีเหนือด้วย เพราะเป้าหมายสุดท้ายในชีวิตของฉันก่อนจะเกษียณคือ การสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนหลายๆ แห่งสำหรับผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ ซึ่งหลายคนถึงขั้นเสียชีวิตและไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลแบบถูกต้องมาทั้งชีวิต ฉันอยากจะช่วยตรงนี้ เหมือนที่เคยช่วยเหลือสังคมตอนเป็นประธานของสภากาชาดเกาหลีใต้เมื่อปี 2015-2017

 

Kim Sung Joo

ช่างผลิตกระเป๋าของ MCM

 

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายแบรนด์ลักชัวรีต้องโฟกัสคือเรื่อง Sustainability ทาง MCM ให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใด?

 

เรื่องความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งแพสชันของฉันเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าวงการแฟชั่นส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลจากการทำลายและเผาสินค้า ฉันบอกทีม MCM แล้วว่า ถ้าเราไม่สามารถแก้ตรงนี้ได้ ฉันอยากปิดแบรนด์ไปเลยดีกว่า ซึ่งตอนนี้เราเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนการใช้วัสดุ PVC เป็นหนัง PU แทน ถึงแม้จะทำให้กำไรเราลดน้อยลง หรือเลือกใช้วัสดุที่ย่อยได้มากขึ้น มีการใช้หนังรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พวก Recycled Nylon และมีการทำ Upcycling นำเศษวัสดุต่างๆ ที่เหลือใช้มาสร้างสรรค์สินค้าอื่นๆ แทนที่จะต้องโยนทิ้งไป

 

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมากับสถานการณ์โควิด ทางคุณและแบรนด์ MCM ได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

 

เราได้เรียนรู้ว่าการเป็น Survivor ถือว่าสำคัญมาก (หัวเราะ) โดยฉันขอยกอเมริกาเป็นตัวอย่างสำคัญ เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องการชุมนุม เหตุการณ์จลาจล หรือมีเหตุไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย แต่สิ่งที่เราเห็นคือรายได้กลับมากขึ้น 2 เท่า จากปีละ 100 ล้านดอลลาร์ เป็น 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทีมงานทุกคนพยายามมองบวก และฉันเองก็พยายามให้กำลังใจในทุกทางที่จะทำได้

 

นอกเหนือจากนั้น ช่วงสถานการณ์โควิดเราเรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี ซึ่งเราต่อยอดและเสริมทัพให้แพลตฟอร์ม Omni-Channel ที่เราได้สร้างไว้สักพักใหญ่ เพื่อให้แข็งแกร่งขึ้นและสามารถเข้าหาลูกค้าได้ง่ายขึ้น

 

หรือที่ร้านค้าของ MCM เอง พนักงานของเราก็ไม่ยอมแพ้ เริ่มทำแฟชั่นโชว์ของตัวเองแบบสนุกๆ ในร้าน เพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามาในร้าน ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ใช่แค่อยากจะขายของ แต่พวกเขาอยากให้กำลังใจคนอื่นๆ ด้วย

 

 

Kim Sung Joo ที่แฟชั่นโชว์ของ MCM ที่ลอนดอน

 

ในอนาคต MCM กำลังโฟกัสด้านอะไร

 

ตอนนี้ทีมของเราในนิวยอร์กที่ดูแลด้านดิจิทัลกำลังโฟกัสด้านการทำ Mobile Commerce และ Social Commerce เพื่อทำให้ประสบการณ์การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ง่ายขึ้น

 

นอกจากนี้ เพราะสถานการณ์โลกตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องโควิดที่ยังไม่จบลง สถานการณ์เงินเฟ้อ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งที่เราต้องฉลาดมากขึ้นคือการใช้พื้นที่ร้านให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะค่าเช่าแต่ละที่ก็ยังแพงมหาศาลอยู่ โดยต่อไป MCM จะเริ่มนำรูปแบบ HRH หรือ Hybrid Retail Hub มาใช้กับร้าน ซึ่งเราจะนำลูกเล่นของเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

 

ต่อมาเราอยากเป็นผู้นำของตลาด New School Luxury โดยมาพร้อมแอตติจูดที่เปิดกว้างมากขึ้นในการสร้างสรรค์สินค้าแบบไม่จำกัดเรื่องเพศหรือใช้แต่บริบทเดิมๆ เพราะในยุคนี้ผู้หญิงทุกคนไม่ได้อยากใส่รองเท้าส้นสูงอย่างเดียว หรือผู้ชายก็ชอบใส่กางเกงสีชมพู ใส่เสื้อผ้าลายดอกไม้ สนใจเรื่องสกินแคร์ และแต่งหน้าด้วย แถมฉันอยากนำคอนเซปต์ของ ‘Ageless’ มาเล่นด้วย เพราะแม้ฉันจะวัย 60+ แล้ว แต่ฉันอยากให้ MCM มีสินค้าที่เข้าถึงทุกวัย

 

แต่ไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะในปีหน้าฉันอยากให้ MCM ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง และเป็นแบรนด์แรกที่เล่นกับคอนเซปต์ Metaverse Smart Luxury แม้สังคม Metaverse จะเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับเรา แต่เราอยากจะบุกอย่างจริงจังและเป็นผู้นำในด้านนี้

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X