วันนี้ (12 กรกฎาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) 2 ฉบับ โดยเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนา นิทรรศการ และงานแสดงสินค้าภายในประเทศ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้
- ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาในพื้นที่อื่นๆ สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว และสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าภายในประเทศด้วย
- ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับที่ใช้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรือการแสดงสินค้าภายในประเทศ โดยต้องมีหนังสือรับรองจากผู้จัดว่าได้เข้าร่วมงานจริง สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565
ธนกรกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่เคยเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก 2 ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว รวมแล้วประมาณ 7,750 ราย โดยรัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 455 ล้านบาท แต่สามารถช่วยเอกชนลดค่าใช้จ่ายทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้ถึง 2,275 ล้านบาท