วันนี้ (11 กรกฎาคม) ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่น 80,772 รายชื่อประชาชนจากคณะก้าวหน้าและภาคีเครือข่าย นำโดย พรรณิการ์ วานิช และ พริษฐ์ วัชรสินธุ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกบทบัญญัติหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
พรรณิการ์กล่าวถึง 80,772 รายชื่อว่าเป็นรายชื่อที่ภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นรายชื่อที่มาจากประชาชนครบทั้ง 77 จังหวัด โดยใช้เวลารวบรวมรายชื่อเพียง 3 เดือน ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็น สิ่งเดียวที่ประชาชนต้องการขณะนี้คือการปลดล็อกให้ท้องถิ่นได้เติบโตตามศักยภาพ คือการเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดด้วยตนเอง โดยผู้บริหารจะต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่หัวใจหลักของประชาธิปไตย แต่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ
โดยความสำคัญของการยุติรัฐราชการรวมศูนย์นั้น ถือเป็นนโยบายมาตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ คือ 3 ฐานราก 8 เสาหลัก 1 ปักธงประชาธิปไตย ซึ่งหนึ่งใน 3 ฐานรากคือการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เพื่อให้ประเทศไทยยุติการรวมทรัพยากร งบประมาณ และอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งทุกพื้นที่จะต้องสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้ เพื่อให้ประเทศไทยปลดล็อกจากประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นการทำภารกิจใน 2 รูปแบบคือ จากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน ซึ่งภารกิจจากบนลงล่างนั้น เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการกระจายทรัพยากร งบประมาณ และอำนาจให้กับท้องถิ่น ขณะที่การทำงานจากล่างขึ้นบนคือการเน้นสร้างท้องถิ่นให้มีอำนาจทำงานโปร่งใสและมีวิสัยทัศน์
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนำเข้าสู่สภาโดยความคาดหวังของเราว่า ผู้แทนราษฎรทุกคนจะเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการเมืองพรรคไหนจะได้ประโยชน์ แต่เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชน 70 ล้านคนได้ประโยชน์เหมือนกันทั้งหมด หวังว่าผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่ให้สมชื่อ สมกับคำว่าผู้แทนของราษฎร และช่วยกันผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้สำเร็จออกมา เพื่อเป็นการปลดล็อกโซ่ตรวนของประเทศไทยจากประเทศกำลังพัฒนาและก้าวต่อไปข้างหน้า” พรรณิการ์กล่าว
ด้านพริษฐ์กล่าวถึงการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่ามีอยู่ 2 ความคาดหวัง คือ
- คาดหวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด
- คาดหวังว่า ส.ส. และ ส.ว. จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ทั้งนี้จึงขอเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาว่า อย่ามองการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าเป็นร่างของพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า แต่ขอให้มองว่าเป็นร่างของภาคประชาชนทุกคนที่ต้องการกระจายอำนาจและปลดล็อกท้องถิ่น ตนในฐานะพรรคก้าวไกลยืนยันว่า นโยบายในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังคงเป็นนโยบายหลักที่จะนำเสนอสู่พี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้