×

‘กอบศักดิ์’ เตือนจับตามรสุมวิกฤตใน Emerging Markets ย้ำชัด ‘ศรีลังกา’ แค่หนังตัวอย่าง

10.07.2022
  • LOADING...
Emerging Markets

ศรีลังกาประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงเป็นเวลาหลายเดือน ไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากไม่มีสกุลเงินต่างประเทศสำหรับการนำเข้าสินค้าสำคัญ จนกระทั่งรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศที่มีสูงกว่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ ต้องขอเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

 

วิกฤตในลักษณะนี้อาจไม่ได้เกิดเฉพาะกับศรีลังกาเท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าเวลานี้เริ่มมีอีกหลายประเทศแสดงอาการในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยล่าสุด กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool หัวข้อ ‘บทเรียนจากศรีลังกา’ ระบุอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดที่ศรีลังกาอาจเกิดได้กับอีกหลายๆ ประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

บ่อยครั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อคนอดอยาก ตกงาน ไม่มีรายได้อย่างกว้างขวาง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคมต่างๆ จะตามมา

 

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ลำบากขึ้นเรื่อยๆ จากราคาอาหาร พลังงาน น้ำมัน สิ่งของต่างๆ ที่พุ่งขึ้นสูง จะนำไปสู่ความไม่พอใจในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและความไม่พอใจในรัฐบาลในที่สุด

 

ยิ่งประเทศไหนมีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย ปัญหาก็สามารถลุกลามรุนแรงขึ้นไปอีกขั้น เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศที่น้อย หมายความว่าประเทศจะไม่สามารถดูแลค่าเงินของตนเองได้ ทำให้ค่าเงินอ่อนฮวบลง

 

ยิ่งหากเป็นเป้าของการถูกโจมตีเก็งกำไรค่าเงินด้วยแล้วก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นเท่าทวีคูณ เพราะประเทศในกลุ่ม Emerging Markets จำนวนมากมีเงินสำรองเพียงหยิบมือเดียว อย่างศรีลังกาก็มีอยู่แค่ 4-5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

 

ในช่วงสั้นๆ ค่าเงินศรีลังกาอ่อนค่าลงมาก จาก 200 รูปีต่อดอลลาร์เมื่อต้นมีนาคม มาเป็น 360-370 รูปีต่อดอลลาร์นับแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 10% เมื่อปลายปีที่แล้ว มาเป็น 54.6% ในปัจจุบัน

 

แต่ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ข้าวของแพงมาก แม้กระทั่งจะสั่งซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่มีเงิน ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า อาหาร พลังงาน คนต้องอยู่กันอย่างกระเบียดกระเสียร นำไปสู่ความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อรัฐบาลที่ครองอำนาจ

 

ตอนแรกเริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการและผู้ชำนาญการต่างๆ แต่ด้วยความโกธรแค้นของประชาชนที่สะสมตัวขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายปะทุขึ้นเป็นการประท้วง การเดินขบวน การขับไล่รัฐบาล การเผชิญหน้าที่อาจจะลุกลามรุนแรง

 

สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน บานปลายกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองที่ทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลและประเทศในที่สุด

 

อยากจะบอกว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง’ เพราะขณะนี้เริ่มมีการเดินขบวนในประเทศอื่นเช่นกัน กานา, เปรู, ปากีสถาน, เอกวาดอร์, ซิมบับเว, อาร์เจนตินา ขบวนใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ได้เริ่มขึ้นแล้ว

 

ซึ่งเมื่อคิดไปถึงความเสี่ยงที่รอเราอยู่ในช่วงถัดไป

 

  1. วิกฤตอาหารโลก Global Food Crisis ที่จะลุกลามขึ้น โดยเฉพาะในฤดูกาลเก็บเกี่ยวถัดไป จากปัญหาปุ๋ยราคาแพง ซึ่งทำให้เกษตรกรทั่วโลกจำเป็นต้องประหยัดการใช้ปุ๋ยไปบางส่วน และจะส่งผลต่อไปยังผลผลิตที่จะออกมา ก็ต้องสรุปว่าปัญหาการขาดแคลนอาหารของโลกมีแต่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น

 

  1. ฐานะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของหลายประเทศใน Emerging Markets ที่นักลงทุนโลกพร้อมผสมโรงซ้ำเติม ด้วยการการดึงเงินออก การไม่ปล่อยกู้ยืม และการโจมตีเก็งกำไรค่าเงินในที่สุด

 

ตารางข้างล่างจาก Bloomberg แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ขณะนี้เรดาร์ของนักลงทุนกำลังจับจ้องอยู่ที่ใคร เอลซัลวาดอร์, กานา, ตูนิเซีย, ปากีสถาน, อียิปต์, เคนยา, อาร์เจนตินา และยูเครน เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น

 

ครั้นเมื่อคนเริ่มมีความกังวลใจเกี่ยวกับ Emerging Markets ทั้งหมดมากขึ้นเรื่อยๆ เงินทุนจะเริ่มไหลออกจากกลุ่มนี้ ทำให้หลายประเทศกู้ยืมได้ยากขึ้น เงินสำรองระหว่างประเทศของหลายประเทศจะรั่วไหลลดลงจนเข้าสู่ระดับวิกฤต นำไปสู่ปัญหาค่าเงิน ปัญหาการนำเข้าสินค้า ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง

 

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ‘มรสุมของวิกฤตใน Emerging Markets’ กำลังรอเราอยู่ข้างหน้า พร้อมพัดวน สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อาจลุกลามนำไปสู่การประท้วง การเผชิญหน้า บานปลายกลายเป็นวิกฤตการเมืองของรัฐบาลในอีกหลายประเทศ ดังเช่นที่เห็นในศรีลังกา 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X