วันนี้ (8 กรกฎาคม) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิต 4 ครั้งที่ผ่านมาว่า ในวาระหนึ่งได้รับหลักการจากสภา 4 ร่าง ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. หรือ ‘สมรสเท่าเทียม’ เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะ พรรคก้าวไกล และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ .. พ.ศ. .… ซึ่งเนื้อหาพูดถึงการห้ามจดซ้อน 2 ร่าง เป็นส่วนประกอบให้เนื้อหาคู่ชีวิตสมบูรณ์ ทั้งสองร่างนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และร่างสุดท้ายคือร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ที่เสนอโดย อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาสาระแตกต่างจากคณะรัฐมนตรีคือการจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นให้สิทธิกับคนทุกเพศ
ธัญวัจน์กล่าวว่า กระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญต้องพิจารณาทั้ง 2 หลักการที่สภาได้ผ่านวาระ 1 มาแล้ว กล่าวคือร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของคณะรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ รวมเป็นหนึ่งร่าง โดยพิจารณาควบคู่กันไป ทำให้ร่างพระราชบัญญัติสมบูรณ์ที่สุด และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือสมรสเท่าเทียม และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของคณะรัฐมนตรีก็ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันและทำให้ร่างสมบูรณ์ที่สุดเช่นกัน
“ทุกหลักการสำคัญที่ผ่านวาระแรกในแต่ละร่างกฎหมายต้องถูกนำมาพิจารณา จะปัดทิ้งหลักการใดหลักการหนึ่งไม่ได้ และเมื่อเป้าหมายคือพิจารณา 2 หลักการสำคัญ ผลลัพธ์คือมีร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตกลับเข้าสู่สภาในวาระ 2 และ 3 และจะมี 3 ทางเลือก คือ รับสมรสเท่าเทียมไม่รับคู่ชีวิต ไม่รับสมรสเท่าเทียมแต่รับคู่ชีวิต หรือสภารับทั้งสองร่างเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน สมรสเท่าเทียมคือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกเพศ และคู่ชีวิตคือกฎหมายทางเลือกที่มีส่วนแตกต่างจากการสมรส” ธัญวัจน์กล่าว
ธัญวัจน์กล่าวต่อไปว่า สภาสามารถรับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ หากนึกถึงผลประโยชน์และชัยชนะของประชาชนสูงสุด ไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงร่างหนึ่งเพราะร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวให้สิทธิกับคนทุกเพศ หากยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสก็มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตได้
แต่หากฝ่ายรัฐบาลเลือกรับเพียงแค่ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตและปัดสมรสเท่าเทียมตกในวาระ 3 ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นชัยชนะของผู้มีอำนาจแต่เป็นความพ่ายแพ้ของประชาชน