องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่จะแพร่ระบาดทั่วโลก โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า กว่าครึ่งของยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในสหรัฐฯ เป็นสายพันธุ์ BA.5
ส่วนสถานการณ์ในไทยนั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า จากการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้นช่วงวันที่ 25 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 พบว่าในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% จำนวนนี้เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ครึ่งหนึ่งคือ 51% และคาดว่าอีกไม่นานจะแทนที่ตัวเก่า BA.2
ดร.ปีเตอร์ ชิน-ฮง (Dr.Peter Chin-Hong) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้วสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ไม่ได้แสดงอาการที่แตกต่างไปจากเชื้อโอมิครอนที่พบก่อนหน้านี้ชัดเจนมากนัก โดยผู้ที่ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 อาจมีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้ป่วยจะมีโอกาสสูญเสียประสาทสัมผัสในการรับรสและดมกลิ่นน้อยกว่า หากเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาหรือโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้า และอาการหายใจลำบากก็น้อยกว่าด้วย
ส่วนผลการศึกษาของ ZOE Health Study จากอังกฤษ ซึ่งขอให้ประชาชนรายงานอาการป่วยของตนเองผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน มีผลลัพธ์ออกมาไม่แตกต่างจากข้อมูลของดร.ชิน-ฮง แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีไข้หลังติดเชื้อมีจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด
ดร.โจเซฟ คับบาซา (Dr.Joseph Khabbaza) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตจากคลีฟแลนด์คลินิก กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 มักจะมีอาการที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือตั้งแต่เส้นเสียงไล่ขึ้นไปจนถึงปลายจมูก
นอกจากนี้เขาสังเกตว่าในขณะที่ BA.4 และ BA.5 แพร่ระบาด มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมากขึ้นที่มีอาการคัดจมูกและเจ็บคออย่างรุนแรง จนบางคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคคออักเสบ (Strep Throat) เพราะรู้สึกเจ็บบริเวณดังกล่าวมาก
ดร.อดัม แรตเนอร์ (Dr.Adam Ratner) ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อในเด็ก Hassenfeld Children’s Hospital at NYU Langone กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ BA.4 และ BA.5 ติดต่อได้ง่ายกว่า ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ยอดการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งภาคสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังในจุดนี้
แฟ้มภาพ: Dan74 Via Shutterstock
อ้างอิง: