×

‘ไทยพาณิชย์’ คาดตลาดหุ้นไตรมาส 3 ผันผวนหนัก เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ราคาพลังงานรุมเร้า เพิ่มความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

07.07.2022
  • LOADING...
ไทยพาณิชย์

กูรูคาดตลาดทุนทั่วโลกผันผวนหนักตลอดไตรมาส 3 และจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 เหตุความไม่แน่นอนจากเงินเฟ้อระดับสูง ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก และราคาพลังงานพุ่งยังรุมเร้าต่อเนื่อง แนะหาโอกาสสะสมหุ้นถูก และปิดความเสี่ยงพอร์ตด้วยตราสารหนี้รวมถึงตราสารทุนที่มีความซับซ้อนสูง 

 

รายการ WEALTH IN DEPTH เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ร่วมพูดคุยกับ ศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ และ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ในหัวข้อ ส่องทิศ ‘เศรษฐกิจโลก’ ครึ่งปีหลัง จัดพอร์ตอย่างไร รับมือตลาดป่วน

 

คาด ‘เงินเฟ้อสหรัฐฯ’ ยังไม่ผ่านจุดพีค

ศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังน่ากังวล โดยในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ สหรัฐฯ จะประกาศเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนคิดว่าจะน่าเพิ่มอีก โดยมีการคาดการณ์กันไว้ที่ 8.8% สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมัน ซึ่งค่าเฉลี่ยเดือนมิถุนายนสูงกว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงประเมินว่าเงินเฟ้อโดยรวมไตรมาส 2 ปีนี้ยัอยู่ในระดับสูง 

 

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 3 มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงแต่น้อยมาก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ภาวะสงครามยังยืดเยื้อ และราคาอาหารที่เพิ่มต่อเนื่อง จากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงมองว่าไตรมาส 2 และ 3 เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับสูงอยู่ 

 

คาดการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่ง SCB CIO คาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง โดยปรับขึ้น 0.75%, 0.5%, 0.5% และ 0.25% และจะทำให้ปลายปี อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่ 3.5-3.75%

 

“และถ้าเงินเฟ้อไตรมาส 4 ลดลงมาราว 6% Fed ก็น่าจะขึ้นดอกเบี้ยช้าลง อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าการขึ้นดอกเบี้ยแรงเช่นนี้จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจถูกกดันแค่ไหน” ศรชัยกล่าว 

 

หวั่น ‘ยุโรป’ เกิดเศรษฐกิจถดถอยปีนี้

สำหรับยุโรป ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นแต่ช้ากว่าสหรัฐฯ จึงประเมินว่ายุโรปจะขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรปมีความน่ากังวลมากว่าสหรัฐฯ เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องการปรับโครงสร้างพลังงานที่ยังกดดันเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีแย่สุด อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ภาคธนาคารของยุโรปก็เริ่มคุยกันเรื่องการตั้งสำรองเพิ่ม เพราะเริ่มมีความกังวลเรื่องหนี้เสียเกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ 

 

ขณะที่ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับยุโรปนั้น ตอนนี้ยังไม่เห็นทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงกว่าสหรัฐฯ  และอาจจะเกิดปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 

 

“อย่างไรก็ตาม ก็มีคนพยายามแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่กรณีแย่สุดที่หาแหล่งพลังงานมาทดแทนรัสเซียไม่ได้ในปีนี้ ก็จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น” สุกิจกล่าว 

 

สำหรับสหรัฐฯ นั้นมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า โดยเป็นผลจากนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ 

 

พบสัญญาณ ‘หุ้นจีน’ ฟื้น

สุกิจกล่าวเพิ่มว่า สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้นอาจจะเติบโตไม่มาก ราว 4% แต่จีนเองก็มีปัจจัยภายในค่อนข้างมาก เช่น Zero-COVID Policy ทำให้เศรษฐกิจโตได้ไม่มาก ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนก็ยังไม่นิ่ง จึงยังต้องเฝ้าติดตามต่อไป 

 

ทั้งนี้ หากประเมินเฉพาะตลาดหุ้นจีน จะพบว่าตลาดหุ้นจีนในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมาเป็นเทรนด์ที่มีโมเมนตัมเชิงบวก และล่าสุดเดือนมิถุนายนเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าตลาดหุ้นจีนเพียงแห่งเดียวในกลุ่มตลาดเกิดใหม่  

 

ศรชัยกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศจีนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณบวกค่อนข้างมาก ทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ที่ล่าสุดอนุญาตให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้เพิ่ม และให้รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ รวมมูลค่าโครงการทั้งหมด 3.65 ล้านหยวน ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นจีนมีการระดมทุนกันอย่างรวดเร็ว ในครึ่งปีแรกระดมทุนไปแล้ว 3.4 ล้านหยวน หรือคิดเป็น 90% ของมูลค่าโครงการ

 

“นโยบายการเงินของจีนค่อนข้างผ่อนคลายแม้เงินเฟ้อยังขยับสูงก็ตาม โดยดัชนี PPI เดือนล่าสุดอยู่ที่ 7% ส่วน CPI อยู่ที่ 2-3% สะท้อนว่าจีนสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ดี” ศรชัยกล่าว 

 

ชี้หุ้นสหรัฐฯ ‘ถูก’ แต่ยังไม่ใช่เวลา 

ศรชัยกล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีอัปไซด์ที่จำกัดอยู่ โดยอัตราดอกเบี้ยยังปรับขึ้นไม่สุด แต่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เริ่มสะท้อนความกังวลที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ซึ่งหมายความว่าตลาดมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้จะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริงๆ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจก็ชะลอตัวอยู่ดี ดังนั้นกำไร บจ. ก็จะได้รับแรงกดดันไปด้วย 

 

ทั้งนี้ หากประเมินในเชิง Valuation ยอมรับว่าหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างถูก แต่หนึ่งในสาเหตุเป็นเพราะราคาหุ้นปรับตัวลดลง ทำให้ PE Multiple ลดลงไปด้วย 

 

“สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการลดคาดการณ์กำไร บจ. ซึ่งหากดอกเบี้ยปรับขึ้นแรงและส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว กำไร บจ. ต้องถูกปรัปประมาณการลงอย่างแน่นอน ภาพนี้สะท้อนว่าหุ้นสหรัฐฯ ถูกจริง แต่ยังไม่ถึงเวลาเข้าลงทุน เพราะอัปไซด์จำกัด ดาวน์ไซด์ยังมี คงต้องรอจังหวะไปในไตรมาส 4 หลังจากเริ่มเห็นว่าเงินเฟ้อเริ่มลดลงอย่างแท้จริง ซึ่งหากตลาดหุ้นจะเริ่มฟื้นจริง ก็เชื่อว่าหุ้นสหรัฐฯ จะฟื้นขึ้นก่อน” ศรชัยกล่าว 

 

สำหรับหุ้นยุโรปนั้น SBC CIO มีมุมมองเป็นลบ เพราะเศรษฐกิจค่อนข้างเปราะบาง และมีความเสี่ยงด้านราคาพลังงานกดดันต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะคลี่คลายได้ 

 

หุ้นไทยเสี่ยงหลุด 1,500 จุดในไตรมาส 3 

สุกิจกล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยว่า ในเชิงปัจจัยพื้นฐานแล้ว กำไร บจ. น่าจะเติบโตราว 10% ปีนี้และปีหน้า และปีนี้ก็มีโอกาสที่จะได้เห็น EPS กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนเกิดโควิด หรือราว 96-97 บาทต่อหุ้น โดยได้อานิสงส์จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะโครงสร้างกำไร บจ. นั้นมาจากกลุ่มพลังงานและแบงก์เป็นส่วนมาก 

 

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินเฟ้อของไทยก็ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนหนักไม่ต่างจากตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งอาจะทำให้ดัชนี SET ปรับลดลงสู่ระดับ 1,500 จุดซึ่งเป็นแนวรับสำคัญ หรืออาจลดลงต่ำกว่านั้นได้ 

 

ทั้งนี้ SCBS ยังคงมองกรอบดัชนีครึ่งหลังปี 2565 (Base Case) ที่ 1,550-1,750 จุด โดยแนะนำให้เน้นลงทุนใน Defensive Stock เพราะจะสามารถสู้กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ประกอบด้วย กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 

 

“ปีนี้หุ้นไทยอาจจะทำผลตอบแทนได้ยาก แต่ถ้ามองระยะยาวไปถึงปีหน้าเชื่อว่าหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนที่ปกติขึ้น ความผันผวนลดลง แต่ก็แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นคุณภาพ มีความมั่นคง เพราะเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอตัวจากปีนี้ ดังนั้นต้องลดน้ำหนักหุ้นพลังงานและโภคภัณฑ์ลงในช่วงปลายปีนี้เพื่อรับมือความเสี่ยง” สุกิจกล่าว 

 

แนะลงทุนตราสารทุนหลากหลายเพื่อปิดความเสี่ยง

ศรชัยกล่าวว่า ท่ามกลางตลาดหุ้นที่ผันผวนทั่วโลก การลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ มีความน่าสนใจ โดยแนะนำให้เลือกลงทุนในตราสารระดับ Investment Grade ส่วน High Yield Bond ไม่แนะนำลงทุน เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ตราสารหนี้ไทยก็มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยแนะนำให้เลือกลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีเรทติ้ง A- ขึ้นไป 

 

นอกจากนี้ ยังแนะนำนักลงทุนในการเลือกลงทุนในตราสารทุนที่มีความซับซ้อนสูง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดได้ดี และช่วยปิดความเสี่ยงขาลงให้กับนักลงทุนได้ เช่น ลงทุนใน Private Assetd ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ และลงทุนแบบ Thematic

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising