วันนี้ (6 กรกฎาคม) ทีมผู้เชี่ยวชาญนำโดยคณะนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบดาวฤกษ์ยังไม่วิวัฒนาการที่อุดมไปด้วยลิเธียม จำนวน 9 ดวง ซึ่งเป็นสถิติมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยการประยุกต์ใช้กล้องโทรทรรศน์ลามอสต์ (LAMOST) กล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานในย่านความถี่ที่ตามองเห็นขนาดใหญ่ที่สุดของจีน โดยลิเธียมจัดเป็นองค์ประกอบทางเคมีสำคัญที่เชื่อมโยงจักรวาลวิทยากับโครงสร้างและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์
โดยดาวฤกษ์ที่พบใหม่นี้มีจำนวนมากกว่าดาวแบบเดียวกันที่ถูกพบก่อนหน้ากว่าสองเท่า ทั้งมีปริมาณลิเธียมมากผิดปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าต้องมีประวัติการสะสมลิเธียมมาก่อน โดยการศึกษาฉบับดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters
การศึกษาพบว่าปริมาณลิเธียมของดาวทั้ง 9 ดวงนั้นสูงกว่าปริมาณลิเธียมของดวงอาทิตย์ประมาณ 3 เท่า นอกจากนั้น ดาวฤกษ์ 7 จาก 9 ดวงนี้มีการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว บรรดานักดาราศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าการรวมตัวของสสารรอบดาวอาจเป็นปัจจัยหลักในการสะสมลิเธียมของดาวฤกษ์
แถลงการณ์จากคณะนักวิจัยเมื่อวานนี้ (5 กรกฎาคม) ระบุว่า แม้นักวิทยาศาสตร์จะพูดคุยเรื่องกลไกการสะสมลิเธียมในดาวฤกษ์ที่ยังไม่วิวัฒนาการเป็นวงกว้างกันอยู่แล้ว ทว่าหัวข้อนี้ยังคงไม่มีข้อสรุปชัดเจน อย่างไรก็ดี การค้นพบดาวใหม่ 9 ดวงอาจช่วยสร้างความคืบหน้าในแวดวงดังกล่าว
อนึ่ง กล้องโทรทรรศน์ลามอสต์เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2008 เพื่อเก็บรวบรวมสเปกตรัมคุณภาพสูง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ความหนาแน่น บรรยากาศ และสนามแม่เหล็กของวัตถุท้องฟ้า โดยกล้องโทรทรรศน์นี้ยังมีบทบาทช่วยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลุมดำดาวฤกษ์หนักที่สุด และดาวยักษ์ที่อุดมด้วยลิเธียมมากที่สุดด้วย
ขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยเผยว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการค้นพบเหล่านี้ พร้อมเสริมว่าการใช้กล้องโทรทรรศน์ลามอสต์สำรวจท้องฟ้าจะนำไปสู่การค้นพบดาวฤกษ์ยังไม่วิวัฒนาการที่มีลิเธียมสูงมากเป็นพิเศษต่อไป
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว