นักวิเคราะห์คาดบาทอ่อนสู่ระดับ 36.35-36.45 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนเข้าสู่จุดกลับตัว เชื่อ Fed ผ่อนท่าทีขึ้นดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค จับตาแบงก์ชาติเข้าดูแลความผันผวน
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ (6 กรกฎาคม) อ่อนค่าแตะระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2016 โดยปัจจัยหลักเกิดจากตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังไม่ผ่อนท่าทีการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนกลับไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ กดดันให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์
รุ่งกล่าวว่า สองเหตุการณ์สำคัญที่จะส่งผลต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าคือ การประชุม FOMC ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนนี้ และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในเดือนสิงหาคม ซึ่งหาก Fed มีท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยที่ชะลอลงในจังหวะที่ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
“เรายังมองว่าในช่วงครึ่งแรกของไตรมาส 3 บาทจะยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยมองกรอบไว้ที่ 36.35-36.45 บาทต่อดอลลาร์ แต่เมื่อ Fed มีท่าทีผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่า ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของไทยและท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว สิ้นปีเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์” รุ่งกล่าว
ขณะที่ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันนี้มีความสอดคล้องกับการอ่อนค่าของเงินสกุลอื่นๆ ของประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ที่เพิ่งจะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงพร้อมๆ กับไทย โดยเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 6.1% เกาหลีใต้อยู่ที่ 6% อินโดนีเซียอยู่ที่ 4.35% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 7.7%
“ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาทำให้นักลงทุนตกใจ และคิดว่านโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้ช้าเกินไป เหมาเข่งว่าธนาคารกลางตื่นสายคล้ายกับ Fed จึงลงโทษ แต่เชื่อว่าเมื่อประเทศอื่นๆ ทยอยเปิดตัวเลขเงินเฟ้อออกมา นักลงทุนก็หันไปโฟกัสที่ประเทศนั้นๆ แทน” กอบสิทธิ์กล่าว
กอบสิทธิ์ประเมินว่า การที่ Fed สาขาแอตแลนตา ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว อาจทำให้การประชุม FOMC ในช่วงปลายเดือนนี้ส่งสัญญาณผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งช่วงดังกล่าวจะเป็นจุดกลับตัวให้เงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ กลับมาแข็งค่าขึ้นได้
“แนวต้านสำคัญของเงินบาทในช่วงนี้น่าจะอยู่ที่ 36.25 บาทต่อดอลลาร์ เพราะถ้าเกิน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไป จะเหมือนเป็นการปล่อยผี โดยเชื่อว่าแบงก์ชาติจะเข้าแทรกแซงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป เพราะจะยิ่งกระทบต่อเงินเฟ้อ” กอบสิทธิ์กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP