×

เป็นไปได้หรือไม่? ที่กรุงเทพฯ จะนำ ‘สายไฟ-สายสื่อสาร’ ลงดิน

06.07.2022
  • LOADING...
สายไฟ-สายสื่อสารลงดิน

“อาจเป็นไปได้” คือคำตอบจากหัวข้อที่เราตั้งไว้เป็นประโยคคำถามตั้งแต่ตอนต้น แม้ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนจะพยายามขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องนี้มาหลายยุคสมัย แม้หลายคนจะทราบดีว่าประโยชน์จากการนำสายไฟและสายสื่อสารไปร้อยเรียงจัดเก็บไว้ในใต้ผืนดินมีมากมาย แต่ความเป็นจริงแล้วมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เราไม่สามารถทำสำเร็จจนล่วงเลยมาทุกวันนี้

 

THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโครงการ ‘นำสายไฟ สายสื่อสารลงดิน’ มาให้ร่วมพิจารณาว่าเหตุใดเราถึงได้คำตอบเพียงว่า “อาจเป็นไปได้”

 

ทำความรู้จักองค์ประกอบในเรื่อง

อันดับแรกก่อนที่จะคิดถึงการดำเนินการจัดระเบียบใดๆ เราต้องเข้าใจและรู้จักกับลักษณะทางกายภาพของ ‘เสาไฟ’ ในบ้านเราก่อน

 

ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ระบุว่า เสาไฟฟ้าในประเทศไทยบนถนนสายหลักจะมีการติดตั้ง 4 ขนาด คือ เสาสูง 22 เมตร, 12 เมตร, 10 เมตร และ 8.50 เมตร ในซอยแยกย่อยส่วนมากจะเป็นขนาด 12 เมตร และ 8.50 เมตร

 

ในเสาไฟ 1 ต้นแบ่งเป็น

  • ชั้นบนสุดคือสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์ สายไฟนี้เข้าใกล้ไม่ได้เด็ดขาด จึงติดตั้งให้อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร ส่วนใหญ่ตัวนำเป็นอะลูมิเนียมไม่มีฉนวนหุ้ม หรือหุ้มบางๆ เท่านั้น
  • ชั้นรองลงมาอยู่ที่ความสูงจากพื้นระดับ 8 เมตร เป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ มีกระแสไฟที่ 230 หรือ 400 โวลต์ ส่วนใหญ่ทำจากทองแดง เป็นสายไฟที่ต่อโยงไว้จ่ายไฟเข้าบ้านเรือนทั่วไป
  • ชั้นที่ต่ำสุดอยู่ที่ความสูงจากพื้นระดับ 5-5.50 เมตร มักอยู่ในลักษณะพันขดกันคือ สายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยสายออปติกไฟเบอร์ คือ สายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิลโทรศัพท์, สายเคเบิลทีวี, สายควบคุมสัญญาณจราจร และสายสื่อสารกล้องวงจรปิด 

 

สิ่งต้องทำความเข้าใจคือ สายที่มองเห็นระโยงระยาง พันรกรุงรัง คล้อยย้อยติดพื้น บดบังทัศนียภาพ สายเหล่านี้คือกลุ่มสายสื่อสาร ตามหลักที่ถูกต้องแล้วสายใดๆ ก็ตามที่มีการพาด เกี่ยว ใช้งาน บนเสาไฟฟ้า จะต้องได้รับการอนุญาตจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542

 

โดยตามระเบียบระบุไว้ว่า “หากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตรวจพบว่าการพาดสายและ/หรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไม่ถูกต้อง ผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มิฉะนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอาจพิจารณายกเลิกการอนุญาต”

หมายความอย่างง่ายว่า หากสายใดๆ ของเอกชนหรือผู้ที่ขออนุญาตพาดสายบนเสาไฟฟ้าของ กฟภ. มีปัญหา จะต้องเร่งจัดการทันที…ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ระเบียบว่าไว้ สายรกรุงรัง พันยุ่งเยิง นับเป็นปัญหาที่ต้องจัดการทันทีด้วยหรือไม่

 

ความรุงรังที่นำไปสู่การลากลงดิน

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2527 โดย กฟน. เริ่มนำสายสื่อสารลงดินจริงจังครั้งแรกในกรุงเทพฯ สมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เมื่อปี 2559 

 

ขณะนั้นมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กฟน., ทีโอที, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ กทม. เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ในชื่อโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน

 

วันผ่านปีผ่านเรื่องนี้เริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรีนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติให้แก้ปัญหาโดยการนำสายไฟฟ้าและสายต่างๆ ที่เป็นปัญหาลงสู่ใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ 

 

โดยให้ กฟน. รับผิดชอบการดำเนินการ ซึ่งใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,500 ล้านบาท และใช้เงินรายได้ของ กฟน. อีกจำนวน 1,173.40 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท เพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินระยะทางรวม 215.6 กิโลเมตร

 

ทั้งนี้ทาง กฟน. ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ถึงประโยชน์จากการนำสายไฟฟ้า สายต่างๆ ลงดิน ว่าสิ่งที่ได้รับคือ

 

  • ระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัย ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตก ลมแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้า
  • รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ 
  • ช่วยทำให้ทัศนียภาพสวยงาม และเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

 

ซึ่งสำหรับประเทศไทยการนำสายไฟฟ้าและสายต่างๆ ย้ายไปเดินสายใต้พื้นดินมี 4 วิธีหลัก

 

  • เปิดหน้าดิน เป็นการขุดถนนลงไปอย่างน้อย 80 เซนติเมตร เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้า จากนั้นฝังกลบกลับสภาพเดิม
  • การดึงท่อ ด้วยการเจาะและคว้านเพื่อลากท่อกลับมายังตำแหน่งที่ต้องการ

 

ใช้สำหรับวางสายไฟฟ้าแรงดันกลาง เพื่อจ่ายไฟจากบ่อพักให้ผู้ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า 

 

  • การดันท่อ การสร้างบ่อพักใต้พื้นผิวจราจร และดันท่อจากบ่อพักหนึ่งไปอีกบ่อพักหนึ่ง เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้าระบบแรงสูงและแรงปานกลาง
  • การก่อสร้างอุโมงค์ เป็นการก่อสร้างเพื่อวางระบบสายส่ง ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีย่อยไฟฟ้า และวางสายป้อนสำหรับจำหน่ายไฟฟ้า

 

ทั้งนี้มีการประเมินว่าการจัดระเบียบโดยการนำสายต่างๆ เดินระบบใต้ดิน จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการนำสายต่างๆ มาจัดระเบียบบนภาคพื้นกว่า 10 เท่า ตัวอย่าง หากจัดเก็บสายไฟบนเสาไฟฟ้าใช้เงิน 200 บาท การนำสายไฟลงดินจะต้องใช้เงิน 2,000 บาท

 

รูปธรรมที่ (น่าจะ) ชัดเจนสำหรับกรุงเทพฯ

 

  • 18 มิถุนายน 2562 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น และ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในขณะนั้น ร่วมเปิดโครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดินหน้าทำพื้นที่กรุงเทพฯ เป็น ‘มหานครไร้สาย’ ในขณะนั้น กทม. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานและมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพฯ ตามบันทึกข้อตกลงมอบหมายดำเนินการ นำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพฯ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2561 กำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี รวม 2,450 กิโลเมตร

 

ต่อมามีเอกชน 1 รายที่ยื่นข้อเสนอดำเนินการติดตั้งและทำการตลาดท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั้งหมดของกรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี 

 

  • 4 มิถุนายน 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราวบริเวณถนนพระรามที่ 3 หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่าถนนไม่เรียบ จากการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. โดยให้หาทางแกปัญหาก่อนเดินหน้าก่อสร้างต่อ

 

  • 19 มิถุนายน 2565 ชัชชาติออกคำสั่งให้แต่ละพื้นที่สำรวจสายไฟ สายสื่อสารในพื้นที่ และเริ่มจัดระเบียบ โดยแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีคือ การตัดสายตายทิ้ง (สายไฟ-สายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งาน) โดยประสานงานกับ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากรายงานที่ได้รับพบว่าทั่วกรุงเทพฯ มีสายตายมากถึง 70% และชัชชาติเคยระบุไว้ว่า สายสื่อสารมีฉนวนที่สามารถติดไฟได้ เมื่อมีเหตุไฟไหม้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกลาม จึงต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้

 

  • 4 กรกฎาคม 2565 กทม. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), กสทช. และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาสายไฟ สายสื่อสาร ซึ่งได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ต้องจัดระเบียบสายที่รกรุงรังทันทีโดยยัง ‘ไม่นำลงใต้ดิน’ กำหนดเป้าหมาย 800 กิโลเมตรภายในปี 2565 ระยะสอง เดินหน้าแผนสายสื่อสาร ‘นำลงดิน’ ประเมินค่าใช้จ่ายไว้ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยสำนักงาน กสทช. เสนองบประมาณช่วยเหลือที่ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา

 

เงื่อนไขของคำตอบ ‘อาจเป็นไปได้’

แม้โครงการจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสารในกรุงเทพฯ ขณะนี้จะดูแล้วมีความหวังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่มีอุปสรรคประกอบรวม กรุงเทพฯ เวลานี้คงจะหมดปัญหานี้ไปนานแล้ว

 

“หน้าที่ของ กทม. คือรับใช้ประชาชน ต้องหาคนรับผิดชอบให้ได้…ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร แค่ตัดสาย ไม่ใช่เรื่องส่งจรวดไปดวงจันทร์ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และมีทางออกได้” ชัชชาติกล่าว

 

“คนใช้อินเทอร์เน็ตกันเยอะ และสายสื่อสารมีจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนสายที่โยงบนเสาไฟฟ้ามาก ดูไม่สวยงาม…ภาครัฐก็น่าจะลงทุนในเรื่องนี้ได้ เพื่อพี่น้องประชาชน” ชัยวุฒิกล่าว

 

อีกเงื่อนไขที่สำคัญคือ ลักษณะทางกายภาพ เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะสามารถนำสายไฟ สายต่างๆ ลงเดินระบบใต้ดินได้ บางสถานที่ถูกจำกัดด้วยขนาด ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าในกรุงเทพฯ มีซอกซอยแยกย่อยเป็นจำนวนมาก การจะขุดดินและวางท่อลงไปอาจไม่เอื้ออำนวย 

 

รวมไปถึงปัญหาการต่อพ่วงสายมาที่เสาไฟฟ้าที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทั้งเอกชนและประชาชน จนเป็นที่มาของการพันโยงใยอย่างไร้จุดสิ้นสุด และการปล่อยทิ้งสายตาย สายไร้มาตรฐานตามเสาไฟ…ฉะนั้นแล้วปัญหานี้จะจบลงอย่างบริบูรณ์ได้ อาจต้องเริ่มจากความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็น เพื่อมองหาทางแก้ในอนาคตที่ยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X