กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างตั้งแต่เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม) สำหรับกรณีที่สองผู้กำกับชื่อดังอย่าง อ๊อด-บัณฑิต ทองดี และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของกองถ่ายไทย โดยเผยว่า การทำงานรูปแบบการทำงานของกองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 12 ชั่วโมง และชั่วโมงการทำงานของกองถ่ายละครอาจจะสูงสุดถึง 16 ชั่วโมง
แม้จะไม่ถูกต้องแต่ก็เป็นระยะเวลาที่ทำติดต่อกันมาจนเป็นเรื่องปกติของคนทำงานในสายนี้ ซึ่งผู้ที่มาทำงานอาจจะต้องเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำให้สาเหตุของการเกิดประเด็นดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยทำร่วมงานเฉพาะกับกองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอ แต่ไม่เคยทำงานงานกองละคร เลยอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวกับเงื่อนไขนี้ได้ การทำงานหนักและกินเวลานานๆ ยอมรับมีส่วนที่ทำให้ฟันเฟืองสำคัญของกองถ่ายต่างได้รับผลกระทบในด้านสุขภาพ ซึ่งบางรายก็ถึงกับเสียชีวิตเลยทีเดียว
และนอกจาก บัณฑิต ทองดี ที่ออกมาให้ความเห็นถึงเรื่องนี้แล้ว ปรัชญา ปิ่นแก้ว ยังออกมาเสริมว่า ชั่วโมงการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ควรตกลงกันตั้งแต่แรก และตนคิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการออกมาเรียกร้องของคนกองถ่ายในครั้งนี้
โดยหลังจากที่บทสัมภาษณ์ของสองผู้กำกับถูกปล่อยสู่สาธารณชนเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาก็ทำให้คำพูดเหล่านั้นกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงในสังคมแรงงานกองถ่ายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องมาตราฐานชั่วโมงการทำงานและสวัสดิการของแรงงานกองถ่าย
ทำให้เย็นวันนี้ (4 กรกฎาคม) ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านแถลงการณ์ในหัวข้อ ‘ปัญหาสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย’ โดยใจความของเนื้อหานั้นระบุว่า
“ล่าสุดสืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวของช่องไนน์เอ็นเตอร์เทน โดย บัณฑิต ทองดี และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ถึงประเด็นชั่วโมงการทำงานและสวัสดิภาพแรงงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ โดยมีพาดหัวข่าวที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองสนับสนุนการทำงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
“สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ตระหนักถึงปัญหาสวัสดิภาพแรงงานว่าเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ฉุดรั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทย และขอชี้แจงว่า บัณฑิต ทองดี และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว มิได้สนับสนุนแนวคิดการทำงานเกินมาตรฐานสากล และยังได้พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด โดยได้เข้าร่วมปรึกษาหารือกับหน่วยงานราชการ คณะกรรมาธิการของรัฐสภา พรรคการเมือง บริษัทผู้ผลิต และองค์กรต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้สำเร็จ โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ คือการขาดอำนาจต่อรองของแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง
“สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจึงขอสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสมาคมสาขาอาชีพอื่นๆ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว
หากแรงงานในทุกภาคส่วนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสวัสดิภาพที่ดีย่อมจะส่งผลให้การทำงานในภาพรวมดีขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ของไทยได้ในระยะยาว”
อ้างอิง: