วันนี้ (2 กรกฎาคม) ณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมอนามัย เปิดเผยว่า กรณีมีการนำเสนอข่าว พบการขายกัญชามวนและการสูบในที่หรือทางสาธารณะนั้น การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
โดยหากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน, สถานที่ที่ประชาชนร้องเรียน, แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน, ลักษณะกลิ่น และช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ หากเจ้าพนักงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบและยุติเรื่อง
หากพบว่าเรื่องร้องเรียนนั้นเข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำเพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ
โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้การแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นเจ้าพนักงานจะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่กำหนด หากผู้ถูกร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28
กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชนแห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือระงับเหตุรำคาญ ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบและยุติเรื่องต่อไป
ด้าน นภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กล่าวว่า การนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
- ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ
- กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิต ในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้าหรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ
ดังนั้น ประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการสูบกัญชา การได้รับควันกัญชามือสอง รวมถึงสถานประกอบการที่อาจมีกิจกรรมรวมกลุ่มสูบกัญชา ควรมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุรำคาญจากกลิ่นหรือควันกัญชา ซึ่งรบกวนประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ขณะเดียวกัน หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นพบเห็นการกระทำดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ได้ทันที เนื่องจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมกับภาคส่วนอื่น เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ต้องไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสมหรืออันตราย