สหภาพยุโรป (EU) กลุ่มประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก เห็นพ้องตรงกันว่าควรกำหนดให้มีการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์คริปโตเคอร์เรนซี หรือ Markets in Crypto-Assets (MiCA) หวังปกป้องนักลงทุน และการยกระดับมาตรฐานของผู้ออกเหรียญ Stablecoin อีกด้วยเช่นกัน
โดยการออกกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่ม EU นั้นจะถูกกำกับดูแลไปตามแต่ละประเทศในกลุ่ม ซึ่งมีรวมทั้งหมด 27 ประเทศ
ทางกลุ่มประเทศ EU ได้ชะลอในการออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลกรอบการทำงานของ MiCA กว่า 2 ปีแล้ว แต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้ (30 มิถุนายน) ทางฝ่ายกำกับดูแลได้เริ่มกำหนดให้ผู้จะออกเหรียญคริปโตส่ง ‘White Paper’ หรือรายละเอียดเกี่ยวกับโปรเจกต์นั้นมาลงทะเบียนกับฝ่ายกำกับดูแลก่อน รวมทั้งให้เก็บรักษาสินทรัพย์สำรองในแบบเดียวกับสถาบันการเงิน สำหรับผู้จะออกเหรียญ Stablecoin
Stefan Berger สมาชิกรัฐสภาที่ดูแลร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ MiCA ได้ทวีตข้อความออกมายืนยันว่า ผู้ออกกฎหมายได้ลงความเห็นผ่านร่างดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Mairead McGuiness คณะกรรมการสหภาพยุโรป รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการด้านการกำกับดูแลคริปโตในสรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นกับสำนักข่าว CoinDesk ว่า “ฉันคิดว่าทุกคนคงรู้สึกว่าเราไม่ควรมีอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำกับดูแล” รวมถึงชี้ว่าการไม่กำกับดูแลได้นำไปสู่ความปั่นป่วนดังที่เห็นในตลาดคริปโตในช่วงก่อนหน้านี้
McGuiness กล่าวต่อว่า “เราดีใจที่เรากำลังไปในทิศทางนี้ (การกำกับดูแล) รวมถึงเรายังต้องได้รับความดูแลจากนานาชาติ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวไม่สามารถกำกับดูแลโดยเราเพียงอย่างเดียว”
นอกจากนี้ฝ่ายกำกับดูแลยังคงไม่เข้าไปกำกับในฝั่งของ NFT เว้นเสียแต่ว่า NFT นั้นๆ ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ (Fractionalized) ที่แต่ละคนสามารถเข้าไปเป็นเจ้าของส่วนต่างๆ ใน NFT นั้นๆ ได้
จุดเริ่มต้นของการกำกับดูแล MiCA นั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2020 เพื่อเข้ามาดูแลเรื่อง ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของการระดมทุนผ่านคริปโต ซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้วว่าเต็มไปด้วยโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้ผ่านรัฐบาลของ EU และฝ่ายนิติบัญญัติ ให้มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย
การกำกับ MiCA นั้นค่อนข้างเป็นที่ยอมรับ เพราะมีส่วนช่วยในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และสามารถเสนอบริการไปยังสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม รวมทั้งการไปดำเนินธุรกิจในประเทศภายในสหภาพได้อีกเช่นกัน
และในช่วงปลายของการออกกฎหมายตอนนี้ ทางฝ่ายกำกับดูแลก็กำลังหารือที่จะขยายขอบเขตไปยังการดูแล NFT และ DeFi (Decentralized Finance) ว่าดีหรือไม่ รวมไปถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำกลไกของ Proof of Work ซึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนบางกลุ่มขึ้นมา
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP