×

‘เวิลด์แบงก์’ ชี้เศรษฐกิจโลกอาจหนีไม่พ้นภาวะถดถอย เหตุปัจจัยท้าทายรุมเร้า ทั้งเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง

30.06.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

คาร์เมน ไรน์ฮาร์ต (Carmen Reinhart) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก แสดงความกังขาพร้อมตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกจะสามารถหลบเลี่ยงภาวะถดถอยได้จริงหรือ เหตุจากสภาพการณ์โดยรวมในขณะนี้เต็มไปด้วยปัจจัยท้าทายที่เกิดขึ้นพร้อมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเติบโตที่ชะลอตัวของหนึ่งในยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกอย่างประเทศจีน

 

ไรน์ฮาร์ตอธิบายว่าสถานการณ์ในห้วงเวลานี้เป็นโจทย์ที่ยากมากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกในการที่จะปรับลดอัตราเงินเฟ้อ เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจโดยจะต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ Soft Landing คือลงจอดอย่างนุ่มนวล ไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจนเกิดภาวะถดถอย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายพากันวิตกกังวลกันในเวลานี้

 

ขณะเดียวกัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์ยังระบุอีกว่า สิ่งที่ทำให้ทุกคนกังวลกันก็คือความเสี่ยงทั้งหมดเกิดขึ้นซ้อนกัน และมีแนวโน้มเป็นไปในทางลบ พร้อมยกตัวอย่างสภาวะช็อกที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เคยอยู่ในระดับต่ำมากเป็นพิเศษ จนถึงขึ้นติดลบมานานนับสิบปี

 

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์วิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีจีนกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโต ทว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ กลับแตกต่าง เพราะนานาประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ล้วนได้รับผลกระทบทั่วหน้า อีกทั้งการเติบโตของจีนก็ไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่แบบตัวเลขสองหลักอีกต่อไปแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือน ทางเวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทั่วโลกลงเกือบ 1 ใน 3 หรือที่ 2.9% ในปี 2022 พร้อมเตือนว่าสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะเป็นชนวนเพิ่มความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงบอบช้ำจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด และทำให้หลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย

 

รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า การเติบโตทั่วโลกอาจลดลงเหลือ 2.1% ในปีนี้ และ 1.5% ในปีหน้า ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของประชากรต่อหัวใกล้แตะระดับศูนย์ หากความเสี่ยงด้านลบที่คาดการณ์กันไว้เกิดขึ้นจริง

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามว่านานาประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ และจีนจะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้หรือไม่ ไรน์ฮาร์ตกล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อว่าประเทศต่างๆ จะหลีกหนีภาวะถดถอยได้พ้น ก่อนเปรียบเทียบกรณีวิกฤตเงินเฟ้อในช่วงกลางปี 1990 ที่ประธาน Fed ในสมัยนั้นคือ อลัน กรีนสแปน สามารถขึ้นดอกเบี้ยและทำให้เศรษฐกิจแลนดิ้งได้อย่างนุ่มนวลว่า ครั้งนั้นเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ 3% เท่านั้น ไม่ใช่ 8.5% เหมือนในปัจจุบัน

 

ไรน์ฮาร์ตย้ำว่า ไม่ใช่แค่การอ้างอิงความสำเร็จในอดีตจะเป็นการรับประกันความสำเร็จ และหลายครั้งที่การปรับนโยบายการเงินของ Fed ให้เข้มงวดขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

 

ขณะเดียวกัน ไรน์ฮาร์ตยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นรัฐบาลเดียวที่ตัดสินใจในเรื่องขอบเขตความเสี่ยงเงินเฟ้อในครั้งนี้ผิดพลาด เพราะทั้ง Fed ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF และสถาบันชั้นนำอื่นๆ ต่างก็ออกมาให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อในช่วงต้นแบบไม่จริงจังเท่าไรนัก ยกเว้นเวิลด์แบงก์ที่ออกโรงเตือนให้ระวังปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อในครั้งนี้ตั้งแต่ต้น โดยระบุว่าเป็น ‘ความเสี่ยงที่แท้จริง’ (Real Risk)

 

ไรน์ฮาร์ตย้ำปิดท้ายว่า Fed ควรลงมือทำตามที่เวิลด์แบงก์พูดมานานแล้ว ก็คือ ควรเร่งลงมือจัดการให้เร็วกว่านี้ และใช้วิธีการเชิงรุกมาตั้งแต่ต้น เพราะปัญหาในลักษณะดังกล่าว ยิ่งประวิงเวลามากเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเท่านั้น

 

วันเดียวกัน ทางด้านสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลกหรือ S&P ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพฤษภาคมว่าจะอยู่ที่ 4.2% มาอยู่ที่ 3.3%

 

การตัดลดคาดกาณณ์การเติบโตในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองในรอบ 2 เดือน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยตัดลดการคาดการณ์ในเดือนมีนาคมที่ 4.9% ลงมาอยู่ที่ 4.2%

 

ขณะเดียวกัน S&P ยังประเมินว่า เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีแนวโน้มจะชะลอตัวในครึ่งปีหลัง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง บั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตที่ดีเกินคาดในช่วงไตรมาสแรกของนี้ในหลายประเทศ รวมถึงในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่ไม่รวมจีน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ตลอดทั้งปี 2022 การเติบโตของตลาดเกิดขึ้นไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์เดิม คือสามารถเติบได้ที่ราว 4.1% แต่การเติบโตในปี 2023 ดูจะไม่ค่อยสดใสสักเท่าไรนัก

 

รายงาน S&P ให้เหตุผลว่า ปัจจัยบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว และแทนที่ด้วยปัจจัยที่ทำให้อ่อนแอ ทั้งสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น การล็อกดาวน์ของจีน และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ S&P ยังได้เพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับ 15 ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เป็น 7.1% ในปี 2022 และอีก 4.1% ในปี 2023 จากการคาดการณ์เดิมที่ 5.9% และ 3.5% ในเดือนมีนาคม และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังสูงเกินเป้าของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่จนถึงอย่างน้อยปี 2024 แม้จะมีการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้นแล้วก็ตาม

 

ขณะเดียวกัน ทางด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Fitch ได้ออกมารระบุว่า สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และสโลวาเกีย เป็นประเทศในยุโรปกลางและตะวันออกที่เปราะบางที่สุด และจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดหากถูกตัดออกจากการนำเข้าก๊าซของรัสเซีย พร้อมคาดการณ์ว่า ภูมิภาคดังกล่าวจะต้องเผชิญกับความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการเติบโตที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และแรงกดดันอย่างต่อเนื่องต่อการขาดดุลสาธารณะและระดับหนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X