สหภาพยุโรป (EU) ร่วมมือกับ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และองค์กรภาคีในเครือข่ายที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด จัดแคมเปญ #โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนคนไทย ผู้ประกอบการ ฝ่ายบุคคล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ เลิกการตีตรา แบ่งแยก หยุดทอดทิ้ง ให้ความเท่าเทียมกัน โดยจัดทำข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับโควิดที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งในรูปแบบ อินโฟกราฟิก บทความ และวิดีโอ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและภาคประชาสังคม ภายใต้ ‘โครงการอียูรับมือโควิด’ ผ่าน Facebook Fanpage: โครงการอียูรับมือโควิด EU Covid-19 Response and Recovery Project (fb.com/EUCovid19TH)
ขณะที่เมื่อมองย้อนกลับไป พบว่ากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด โรคระบาดที่ไม่เคยมีมาก่อน ความน่ากลัวคือไม่มีใครรู้เลยว่า ความรุนแรงจะทวีคูณจากการกลายพันธุ์ไปมากน้อยเพียงใด และจะจบลงเมื่อไร ส่งผลให้การรับมือในทุกภาคส่วนของหลายประเทศทั่วโลกเป็นไปอย่างสับสน วุ่นวาย ไร้ทิศทาง ลองผิดลองถูก ปรับแผนต่างๆ เพื่อหาทางยุติโรคระบาดที่มีมาอย่างต่อเนื่องนี้ให้ได้
ในส่วนของประเทศไทย แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกสะสม พอกพูนจากการเผชิญหน้าต่อสู้กับโควิดตลอด 3 ปีที่ผ่านมายังคงเป็นบาดแผลเรื้อรัง และยังจำเป็นต้องมีการวางแผน ปรับปรุง แก้ไขการรับมือไปพร้อมๆ กับโรคระบาดอุบัติใหม่อื่นๆ ในเวลาเดียวกัน
แม้ว่าแผนการรับมือที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างมีการปรับปรุง แก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพื่อประคองระบบสาธารณสุข ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่รอดไปได้ ภายใต้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดแล้ว ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ยังไม่ได้รับการวางแผน การรับมือ และจัดการให้ได้รับความเสมอภาค นั่นก็คือกลุ่มคนเปราะบาง อย่างเช่นแรงงานข้ามชาติ ชาวเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา
ในคลัสเตอร์การระบาดระลอกหนึ่งในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2564 แรงงานข้ามชาติถูกตีตราว่าเป็นตัวเชื้อโรค ตัวนำพาโรคระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทย และเป็นตัวการสำคัญในการแพร่เชื้อออกไปสู่สังคม ทำให้พวกเขาถูกกีดกันทางสังคม ถูกแบ่งแยกจากโอกาสต่างๆ ในการเข้าถึงการเยียวยาและสวัสดิการในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่พึงจะได้ แม้ว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ติดเชื้อเลยก็ตาม
ซึ่งแท้จริงแล้ว ‘ไม่ว่าเชื้อชาติไหน สัญชาติใด ก็มีโอกาสติดเชื้อโควิดนี้ได้เหมือนกัน’
ปัจจุบันแม้ว่าคนไทย เจ้าของกิจการ ที่ต้องใช้กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโควิดมากขึ้น แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า การตีตรา แบ่งแยก เลิกจ้าง และทอดทิ้งกลุ่มคนเหล่านี้ยังคงมีอยู่ไม่หายไปแต่อย่างใด ซ้ำยังทวีคูณความรุนแรง ก่อให้เกิดเป็นปัญหาของสังคมอีกหลายด้านตามมา ซึ่งอาจกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมภาพรวมของประเทศอย่างมาก
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราคนไทยทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของกิจการ ฝ่ายบุคคล หรือ ใครก็ตาม ควรเลิกตีตรา เชื้อชาติ สถานะทางสังคม การศึกษา เลิกแบ่งแยก ว่าพวกเขาเป็นเพียงชนชั้นแรงงาน หยุดทอดทิ้งเขาในทุกสถานการณ์ และมองกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นคนเหมือนกันกับเรา มีความเท่าเทียมกันกับเราทุกประการ