มาร์กอส จูเนียร์ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2022 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งระดับชาติที่จัดทุก 6 ปี ตามวาระ
ว่าที่ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ หรือชื่อเล่นว่า ‘บองบอง’ เป็นบุตรของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ครองอำนาจในช่วงปี 1965-1969 และวาระที่ 2 คือปี 1969-1972 ในช่วงแรกของการปกครองของเขา ประเทศมีความเจริญมาก สหรัฐฯ สนับสนุนในทุกๆ ด้านเพื่อแลกเปลี่ยนกับฐานทัพที่อยู่ในฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์จึงเปรียบเสมือนประเทศอเมริกาเล็กๆ ในเอเชีย เพราะได้จำลองความเจริญต่างๆ มาไว้ในฟิลิปปินส์ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เจริญนัก
มาในช่วงที่ 2 ของการปกครองของมาร์กอสคนพ่อ เขาเริ่มมีข่าวคอร์รัปชันในกลุ่มพรรคพวกบริวาร มีการต่อต้านของนักศึกษา พรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ กลุ่มติดอาวุธทางใต้ ไปจนถึงการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นและอเมริกา ทำให้มาร์กอสอ้างความไม่สงบในประเทศประกาศกฎอัยการศึกตามรัฐธรรมนูญปี 1935
และนับเป็นประสบการณ์ของผู้เขียนที่อยู่ในช่วงที่มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกพอดี จึงได้เห็นการสั่งจับผู้ต่อต้าน การทรมาน การข่มขู่จนนักวิชาการและนักการเมืองต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก
ฝ่ายอเมริกาเองก็ได้สนับสนุนฟิลิปปินส์ทั้งการศึกษาและเศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมให้ตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์จึงเปรียบเสมือนประเทศอเมริกาเล็กๆ ในเอเชียในช่วงปี 1965-1972 เพราะได้จำลองทุกอย่างเข้ามาไว้ในฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ระบบการศึกษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และระบบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แก่ฟิลิปปินส์
ในช่วงนี้ประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยได้ส่งนักศึกษาไปศึกษา และข้าราชการไปศึกษาและดูงานในฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก นักศึกษาและข้าราชการเหล่านี้ได้นำแนวทางการพัฒนาต่างๆ มาสู่ประเทศ เช่น การศึกษา การเพาะปลูกข้าว การจัดตั้งสหกรณ์ และการพัฒนาชุมชน การจัดตั้ง International Research Institute (IRI) ส่วน อิเมลดา มาร์กอส นั้นมาร์กอสได้แต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองมะนิลา
ในฐานะนายกเทศมนตรีเธอมีผลงานการจัดตั้ง International Convention of the Philippines, Cultural Center of the Philippines, Heart Center of the Philippines, Nayong Filipina (เมืองจำลอง) และได้ทำพุดนตรีเป็นแห่งแรกของเอเชีย นอกจากนี้เธอยังส่งนักศึกษาไปศึกษาเกี่ยวกับศิลปะในต่างประเทศ บุคคลเหล่านี้ก็กลับมาตอบแทนบุญคุณเธอตั้งแต่รุ่นบิดาจนถึงรุ่นลูก
เมื่อมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน 1972 เขาเป็นผู้นำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมีการลงทุนต่างชาติเข้ามามาก ประกอบกับมีการสนับสนุนจากอเมริกาในทุกๆ ด้าน ทำให้ประเทศเกือบจะเป็นที่หนึ่งของเอเชีย แต่แล้วก็มาประสบกับภาวะล้มละลายในปี 1981 กองทุนการเงินระหว่างประเทศและอเมริกากดดันให้มาร์กอสเลิกประกาศกฎอัยการศึก และให้เตรียมการเลือกตั้งในปี 1983
แต่ทว่าได้เกิดการลอบสังหารคู่แข่งที่จะมาลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับมาร์กอส จึงเกิดพลังประชาชน (People Power) ขับไล่มาร์กอสออกนอกประเทศในปี 1986 และสหรัฐฯ ก็รับมาร์กอสและครอบครัวรวมทั้งพรรคพวกบริวาร (Cronies) ไปพำนักอยู่ที่มลรัฐฮาวายจนเสียชีวิตที่นั่น สาเหตุที่ประเทศล้มละลายเป็นเพราะมาร์กอสได้ให้พรรคพวกบริวารรับสัมปทานต่างๆ ของการทำธุรกิจต่างๆ ของประเทศ
รัฐบาลคอราซอน อากีโน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินเงินทองของประเทศ (Philippine Commission on Good Governance) พบว่ามาร์กอสได้นำเงินของประเทศไปฝากในนามของตัวเองในต่างประเทศมากมาย ทั้งในธนาคารของสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มากมาย รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ฟ้องต่อศาลทั้งสองประเทศและได้เงินคืนมาเป็นระยะๆ แต่รัฐบาลดูเตอร์เตไม่ได้ทำอะไรเลยกับทรัพย์สินของมาร์กอส เพราะเป็นเพื่อนกันและเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของมาร์กอสมาก่อน อีกทั้งดูเตอร์เตยังได้นำศพของมาร์กอสที่อยู่ที่ฮาวายมาฝังที่สุสานวีรบุรุษของฟิลิปปินส์ ซึ่งก็มีการประท้วงกันมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม พลังประชาชนก็ไม่สามารถทัดทานการใช้อำนาจเด็ดขาดของดูเตอร์เตได้ ทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์ที่ มาร์กอส จูเนียร์ ต้องรับผิดชอบ เพราะการสอบสวนทรัพย์สินของพ่อยังไม่เสร็จสิ้น
มาถึงปัจจุบัน มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Romualdez Marcos Jr.) หรือ บองบอง มาร์กอส หรือ มาร์กอส จูเนียร์ ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และได้คะแนนอย่างท่วมท้นถึง 31 ล้านเสียง ในขณะที่คู่แข่งได้ 14 ล้านเสียง และเตรียมจะได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 30 มิถุนายน ตามรัฐธรรมนูญปี 1987
ทำไมมาร์กอส จูเนียร์ จึงชนะการเลือกตั้ง
การชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของเฟอร์ดินาน จูเนียร์ ในการเลือกตั้งระดับชาติ (การเลือกตั้งทั่วไป) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2022 นั้น เป็นการนำตระกูลมาร์กอสกลับคืนสู่ทำเนียบมาลากันยังอีกครั้งตามความหวังของมาร์กอสและภรรยา ชัยชนะครั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการดังนี้ คือ
- พรรคของเฟอร์ดินาน จูเนียร์ ได้ทาบทาม ซารา ดูเตอร์เต ให้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพราะเชื่อแน่ว่าจะได้คะแนนเสียงจาก ประธานาธิบดีดูเตอร์เต และได้แต่งตั้ง เบนเฮอร์ อบาลอส จูเนียร์ (Benhur Abalos Jr.) อดีตประธานของนครมะนิลาเป็นผู้จัดการหาเสียง (Campaign Manager) ซึ่งคนผู้นี้มีความสามารถในการวางกลยุทธ์และวางแผนในการหาเสียง ว่าจะหาเสียงกับใคร เรื่องอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง
- การใช้คำหาเสียงในนาม Uni-Team (ทีมเดียวกัน) ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มองเห็นว่าทีมนี้เหนียวแน่นที่จะแก้ปัญหาเรื่องโควิดและเศรษฐกิจให้ดีขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.7-7.00 เปอร์เซ็นต์ – Reuters) ทีมนี้ยังได้โฆษณาชวนเชื่อโดยใช้คำว่า “จะทำให้ฟิลิปปินส์รุ่งเรืองอีกครั้ง” ให้เหมือนยุคทองในสมัยเฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้บิดา เขาพยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์เรื่องที่ไม่ดีต่างๆ ของครอบครัวมาร์กอสที่ได้สร้างไว้ให้มาร์กอสเป็นผู้กล้าหาญ เป็นยุคทองของฟิลิปปินส์ และสร้างความเจริญต่างๆ ให้ฟิลิปปินส์ ฉะนั้น ผู้ที่เกิดหลังมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกที่มาจากครอบครัว C, D, E (กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ) ก็จะเชื่อในการโฆษณาชวนเชื่อนี้ ส่วนกลุ่มร่ำรวยส่วนหนึ่งที่มาจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงคือ กลุ่ม A, B ที่เคยสนับสนุนมาร์กอส แม้จะมีน้อยแต่ก็ยังสนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์อยู่ เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากการที่มาร์กอสและ อิเมลดา มาร์กอส ที่ได้ส่งบุคลากรไปศึกษาในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อเอาความรู้มาพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทางด้านศิลปะและสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านการแพทย์เพื่อให้มาพัฒนาศูนย์ศิลปะ ศูนย์หัวใจ และศูนย์โรคไต ที่เธอได้สร้างขึ้น การสำนึกในบุญคุณก็เป็นค่านิยมของชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกปลูกฝังมาในครอบครัวเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงทำให้กลุ่มเหล่านี้สนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์ด้วย ส่วนกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากอาจารย์ก็จะต่อต้านมาร์กอส จูเนียร์ รวมทั้งกลุ่ม A, B, C ส่วนหนึ่งด้วย
- พรรคของมาร์กอส จูเนียร์ หาเสียงโดยไปคลุกคลีกับกลุ่ม C, D, E มากกว่า เลนี คู่แข่ง เขาจึงชนะใจประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้ง
- การหาเสียงของพรรค มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ได้ตำหนิคู่แข่งคือ เลนี และพรรคอื่นๆ ส่วนพรรคของ เลนี ได้ตำหนิครอบครัวของมาร์กอสว่าคอร์รัปชัน สร้างพรรคพวกบริวาร และทำให้ประเทศล้มละลาย (ซึ่งเป็นเรื่องจริง) แต่ชาวฟิลิปปินส์ไม่ชอบการตำหนิมากมายเช่นนี้แม้จะเป็นความจริง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์ที่ไม่ควรตำหนิคนที่ล้มไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวที่ไม่รู้เรื่องราวของฟิลิปปินส์ในอดีต กลุ่มนี้จึงย่อมจะตำหนิพรรคของเลนีมากกว่า แม้ มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ได้หาเสียงด้วยนโยบายก็ตาม
- พรรคของ มาร์กอส จูเนียร์ เจาะหาเสียงที่กลุ่ม Gen Y และ Z ที่เกิดไม่ทันสมัยมาร์กอส ทำให้กลุ่มนี้เชื่อว่าฟิลิปปินส์จะเป็นยุคทองอีกครั้งเหมือนสมัยมาร์กอส อีกทั้งครอบครัวของคนรุ่นนี้มิได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของมาร์กอสให้รับทราบ ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนก็มิได้กล่าวถึงมาร์กอสในทางที่ไม่ดี เด็กรุ่นหนุ่มสาวมีมากถึง 52 เปอร์เซ็นต์ และใช้สื่อทางสังคมและสื่อมวลชนถึง 92.1 ล้านคน จึงย่อมเข้าถึงการโฆษณาชวนเชื่อจากการนิยมใช้ Facebook, YouTube, TikTok และสื่อส่วนตัวของ มาร์กอส จูเนียร์ ได้ง่ายและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้เร็วกว่าพรรคของเลนี
- พรรคของ มาร์กอส จูเนียร์ ได้จ้างสื่อสังคม หรือโซเซียลมีเดีย (Social Media) ซึ่งเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อเหล่านี้ ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามไปด้วย นอกจากนั้นสื่อของ มาร์กอส จูเนียร์ ยังได้ส่งอีเมลและโทรศัพท์ไปถึงผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและโน้มน้าวให้เชื่ออีกด้วย ด้วยเหตุนี้สื่อก็เป็นอาวุธทำให้เขาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้
- ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือ การสนับสนุนจากญาติพี่น้อง พรรคพวกบริวาร (Cronies) ของทั้งมาร์กอสผู้เป็นบิดา อิเมลดาผู้เป็นมารดา และดูเตอร์เตผู้เป็นบิดาของ ซารา ดูเตอร์เต ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีในพรรคของเขา
- มาร์กอส จูเนียร์ มีงบประมาณมากพอที่จะใช้ในการหาเสียงตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง (COMELEC) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสามารถใช้ได้ 10 เปโซต่อหัวผู้ลงทะเบียน 67 ล้านคน มาร์กอสก็สามารถใช้ได้ 670 ล้านเปโซ ซึ่งเลนีไม่มีงบประมาณมากถึงขนาดนี้ มีแต่อาสาสมัครที่ช่วยเหลือกันมากมายด้วยความเต็มใจ เพราะกลุ่มเลนีกล่าวว่า “Never again, Never forget, No to revision” คือไม่ต้องการให้ครอบครัวของมาร์กอสกลับมาอีก และไม่เคยลืมที่มาร์กอสทำไว้กับประเทศ อีกทั้งพวกเขาไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมาร์กอส แต่พลังนี้ก็ไม่สามารถชนะพลังของกลุ่ม มาร์กอส จูเนียร์ ได้
แต่อย่างไรก็ตาม เลนีก็ยอมรับการได้รับชัยชนะของมาร์กอส จูเนียร์ ตามวิถีทางของประชาธิปไตย ส่วนการประท้วงเป็นการกระทำของกลุ่มที่นิยมนโยบายของเลนี สิ่งที่พรรคหรือกลุ่มของเลนีจะตรวจสอบ คือการกระทำของกลุ่มมาร์กอส ถ้าการจัดการบ้านเมืองไม่โปร่งใส และการคอร์รัปชันของรัฐบาล กลุ่มประชาสังคมที่เข้มแข็งของฟิลิปปินส์จะลุกขึ้นมาตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญของนโยบายต่างประเทศคือ มาร์กอส จูเนียร์ ต้องไม่เสียดินแดนส่วนที่เป็นของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ให้จีนไป และเขาต้องเสียภาษีมรดกและทรัพย์สินที่ได้รับจากบิดาที่อยู่ในต่างประเทศ ที่สำคัญเขามีความผิดเบื้องต้นแล้วที่ไม่เสียภาษี แต่เขาจะแก้ตัวอย่างไรขึ้นอยู่กับทนายความของเขา นอกจากนี้เรื่องที่ชาวฟิลิปปินส์หวังไว้มากคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุคโควิด รวมทั้งแก้ปัญหาด้านพลังงานตามที่ได้ประกาศกับประชาชน และเขาจะต้องเลือกคณะรัฐมนตรีที่มาจากหลายฝ่าย ไม่ใช่พวกเดียวกันหมด อีกทั้งต้องมีความชำนาญในแต่ละด้าน จึงจะแก้ปัญหาของประเทศได้ ซึ่งขณะนี้เขาก็ได้เลือกผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาช่วยเขาแล้วทั้งกลุ่มของมาร์กอสเอง และกลุ่มที่เคยทำงานให้ เบนิกโน อากีโนที่ 3
ทั้งนี้ มาร์กอส จูเนียร์ จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มิถุนายน 2022 ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งฟิลิปปินส์จะเป็นที่จับตามองของประเทศต่างๆ หลัง มาร์กอส จูเนียร์ ปกครองประเทศแล้ว เพราะเขาเคยประกาศไว้ว่า “Judge me not by my Ancestors, but by my Actions” ซึ่งต้องดูต่อว่าหลังจากได้รับชัยชนะแล้วจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะเวลา 6 ปีตามวาระนั้นสั้นนัก
ภาพ: Ryan Eduard Benaid / NurPhoto via Getty Images