หลังจากมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม จบลง พร้อมกับผลงาน 92 เหรียญทอง 103 เหรียญเงิน และ 136 เหรียญทองแดง
THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อมองไปยังอนาคตของวงการกีฬาไทย ที่ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงการยกระดับสนามกีฬาภายในประเทศให้มีมาตรฐานสำหรับการจัดการแข่งขันระดับสากล
รวมถึงการที่กรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคม 2025 และการสนับสนุนกีฬาที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งอีสปอร์ต สเกตบอร์ด เซิร์ฟ และเซิร์ฟสเกต
ซึ่งทางรัฐมนตรีได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่จะเป็นการบ่งบอกทิศทางของอนาคตวงการกีฬาไทย
สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่?
พิพัฒน์: นโยบายของเรามีไว้เรียบร้อยแล้วว่า ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ไปขอพื้นที่ใน EEC เบื้องต้น เท่าที่ทราบเราขอพื้นที่ไป 600 ไร่ เขาให้เรามา 380 ไร่ แต่เราขอเพิ่มเป็น 600 ไร่ สุดท้ายอาจจะขอเพิ่มเป็น 2,000 ไร่ ซึ่งตรงนั้นจะมีความพร้อมของทุกชนิดกีฬาอยู่ภายในนั้น
มีสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟมาตรฐาน และมีสนามกีฬาอเนกประสงค์ โดยเฉพาะสนามฟุตบอล ที่พร้อมจะเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานและสามารถรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกได้
นโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา เราก็เป็นผู้นำเสนอว่าเป็นไปได้ไหมถ้าประเทศอาเซียนจะร่วมกันจัดฟุตบอลโลกในปี 2034
ซึ่งใครเป็นเจ้าภาพในการเปิดหรือปิด ต้องมีสนามที่มีความจุ 80,000 ที่นั่ง ซึ่งตรงนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการวางแผนจัดสร้างสนามที่ EEC เรามีแผนการเรียบร้อยแล้ว
EEC มีความพร้อมและพื้นที่มากพอ ซึ่ง 2,000 ไร่ที่เราขอเราจะทำสนามกีฬาหลายชนิด และเรามีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ อู่ตะเภา ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ไป-มาสะดวก เพราะฉะนั้นการเดินทางผมคิดว่าน่าจะเป็นความเหมาะสมที่สุด และที่สำคัญเราได้ที่ดินในราคาที่ไม่แพง และที่คุยกันคือจะเป็นการลงทุนโดย PPP เอกชนเป็นผู้ลงทุนร่วมกัน ผมคิดว่าน่าจะเป็นความเหมาะสมที่สุดที่ EEC
ส่วนการกีฬาแห่งประเทศไทยก็มีนโยบายต่อไปว่า ที่จังหวัดภูเก็ตเราได้ไปสำรวจ ซึ่งมีพื้นที่หนึ่งที่ตำบลไม้ขาว เป็นที่ของกรมธนารักษ์ ตอนนี้สิทธิ์ผู้ครองที่ดินเป็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีพื้นที่ถึง 238 ไร่
ด้านหน้าติดถนน ด้านหลังติดทะเล มีความคิดและกำลังหารือว่าพื้นที่ 200 กว่าไร่ตรงนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะจัดเป็นสนามฟุตบอลที่จุคนได้ไม่เยอะ ประมาณสัก 20,000 คน แต่เป็นสนามกีฬาที่ใช้แข่งกีฬาได้หลายชนิด และเราจะเตรียมไว้สำหรับช่วงพรีซีซันสำหรับทีมจากต่างประเทศที่จะมาเก็บตัวฝึกซ้อม
เราอยู่ในช่วงหารือถึงความเป็นไปได้ และจะไปตรงกับโรงพยาบาลของภูเก็ตที่ ครม. ได้อนุมัติงบไปแล้ว 1,041 ล้านบาท ที่จะตั้งเป็นศูนย์สุขภาพของอันดามันและเอเชียใต้ เราก็จะเอาตรงนี้มาเป็นส่วนต่อเนื่องกับโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่คงไม่ได้ใช้งบของรัฐบาล แต่เราใช้ระบบ PPP หรือหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน
ภารกิจของไทยในการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 2025
พิพัฒน์: ตรงนี้ผมได้ให้นโยบายกับการกีฬาแห่งประเทศไทยไปแล้วว่า ขอให้จัดกีฬาสากลเป็นหลัก และหากว่าจะเป็นกีฬานอกเหนือ ขอให้เป็นกีฬาสาธิต ส่วนกีฬาที่จะทำให้เจ้าภาพได้เหรียญทองเยอะที่สุด ไม่มีความจำเป็น เราจะเน้นกีฬาสากลให้ดีไว้ก่อน
เราต้องการสร้างมาตรฐานของซีเกมส์ให้ได้เหมือนเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกเกมส์ ผมคิดว่าในเมื่อประเทศอื่นไม่ทำ เราขอเป็นประเทศแรกในการปรับเปลี่ยนเรื่องของชนิดกีฬา
เป้าหมายของการจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ของประเทศไทย ให้เป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันครั้งต่อๆ ไป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการยกมาตรฐานของซีเกมส์มากขึ้น
เจ้าภาพ 2025 เราจะขอให้จัดเฉพาะกีฬาสากล เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่
ส่วนกีฬาให้เป็นอาชีพมากขึ้น บางกีฬาเราสามารถสร้างได้ในประเทศ แต่บางชนิดก็ไม่สามารถทำได้ ประเทศเราอาจเล็กเกินไปสำหรับการสร้างเป็นอาชีพให้กับกีฬาทุกประเภท แต่เราจะพยายาม
ยกตัวอย่าง วอลเลย์บอลหญิงหรือชาย เราไม่สามารถทำให้เป็นระดับดำรงชีพได้ด้วยการแข่งขันในประเทศ แต่เราสามารถส่งออกนักกีฬาเหล่านี้ไปแข่งขันในลีกต่างๆ ในประเทศอื่น วอลเลย์บอลและฟุตบอลเราเริ่มต้นส่งออกไป สิ่งเหล่านี้ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ และเราเริ่มทำไปบ้างแล้ว
นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ช่วยนักกีฬาหาอาชีพรองรับ สมมติเข้ามาเป็นทีมชาติ เราจะต้องหาวิธีว่าจะเติมความมั่นคงของนักกีฬาได้อย่างไร
ก็คือการหาบริษัทหรือส่วนราชการต่างๆ โดยการขอความร่วมมือให้เขารับราชการหรืออยู่ในบริษัทที่มีความต้องการ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้ ให้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยเปิดอัตรารองรับนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาคนพิการหรือคนทั่วไป
ตัวผมเองก็ได้ประสานไปทางกระทรวงต่างๆ ว่าถ้าเกิดนักกีฬาอยากรับราชการหรือทำงานในบริษัท เราก็จะพยายามให้พวกเขาได้ทำงานตรงกับสิ่งที่เขามีความรู้หรือสนใจ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการกีฬาแห่งประเทศไทย เราได้เตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่อรองรับ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ
WSL เตรียมจัดการแข่งขันครั้งแรกในไทย?
พิพัฒน์: กีฬาชนิดใหม่ทั้งเซิร์ฟ, เซิร์ฟสเกต, สเกตบอร์ด และเอ็กซ์สตรีม เราได้เริ่มต้นการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา เราจะพยายามส่งเสริมและพยายามที่จะยกระดับของเราให้ก้าวไปสู่ความเป็นอาชีพให้ได้มากกว่านี้
การยกระดับมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ทั้งผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน สิ่งเหล่านี้จะต้องหาวิธีจัดอบรมผู้ฝึกสอน โดยผู้ฝึกสอนระดับโลกมาเป็นผู้สอนและแนะนำเรา
นี่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่เราต้องเริ่มต้นจากกติกาให้มีความแม่นยำก่อน แล้วถึงจะเริ่มผลักดันกีฬาได้ ตอนนี้เรามีผู้ฝึกสอนที่มีมาตรฐานแล้ว
ต่อจากนี้เราได้มอบหมายสมาคมกีฬากระดานโต้คลื่นแห่งประเทศไทยในการศึกษาและจัดการแข่งขันเซิร์ฟระดับนานาชาติขึ้นในประเทศไทย โดยคาดการณ์ในการจัดการแข่งขัน ณ หาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต
การสนับสนุนจัดการแข่งขันเซิร์ฟในทะเลเป็นกีฬาที่ต้องจัดในฤดูมรสุม ซึ่งจะมาพร้อมกับความอันตราย เราเองก็ต้องมองต่อไปในการป้องกันด้วยการอบรมไลฟ์การ์ด เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งทางกระทรวงมอบหมายให้สมาคมกีฬากระดานโต้คลื่นแห่งประเทศไทยประสานหน่วยงาน
- ISA ในการร่วมอบรมผู้ฝึกสอนเซิร์ฟของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ฝึกสอนกีฬาเซิร์ฟของประเทศไทย
- หน่วยงาน ILS ในการอบรมไลฟ์การ์ด เพื่อการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางน้ำของประเทศไทย ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือและกู้ภัยทางน้ำที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
การแข่งขัน WSL เรามองการจัดการแข่งขันในระดับ QS3000 รอเพียงทาง WSL เข้ามาสำรวจพื้นที่ ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับข่าวดีจาก WSL ในเร็วๆ นี้
นอกจากการจัดการแข่งขันแล้ว กีฬาเซิร์ฟยังถือเป็นกีฬาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วงฤดูมรสุมได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยว หากเราสามารถยกระดับมาตรฐานของบุคลากร โดยเฉพาะไลฟ์การ์ดที่จะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศ
เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทั้งเที่ยวและเล่นเซิร์ฟได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานและปลอดภัย เช่นเดียวกับโอกาสที่จะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันระดับโลกในอนาคต