วันนี้ (23 มิถุนายน) ที่อุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เขตราชเทวี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมบรรยายหัวข้อ Re-Imagination Mega-City: Bangkok towards City of Innovation ในงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชัน ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2022 โดยกล่าวถึงความสำคัญของอินโนเวชัน ซิตี้ ที่ต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดคนเป็นที่ตั้ง
ชัชชาติกล่าวว่า อินโนเวชัน ซิตี้ หรือนวัตกรรมเมือง คือการสร้างคุณค่าจากการใช้ไอเดียใหม่ๆ ซึ่งเมืองต้องการนวัตกรรม เพราะมีทรัพยากรจำกัด ปัญหาต่างๆ ในเมืองก็ต้องมีนวัตกรรมมาจัดการปัญหา หัวใจสำคัญคือ ต้องไม่หลงใหลกับเทคโนโลยีมากเกินไป เอาคนเป็นที่ตั้ง และใช้เทคโนโลยีตอบปัญหาของคน
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ในบางครั้งไม่ต้องลงทุนมาก แต่ให้เข้าใจว่าคนต้องการอะไร สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเข้าไปสัมผัสปัญหา เช่น ที่ผ่านมา กทม. ได้ใช้อินโนเวชันในระบบแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ฟองดูว์ เข้ามาตอบโจทย์การแก้ปัญหาเมือง เป็นเรื่องง่ายแต่สามารถเปลี่ยนมิติได้อย่างมหาศาล
โดยเชื่อว่านวัตกรรมจะสามารถเปลี่ยนเมืองได้ โดยเอาคนเป็นที่ตั้ง เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบ และต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยภาครัฐอาจจะผลักดันเรื่องนวัตกรรมได้ยาก เพราะต้องทำกรอบ ตามระเบียบ แต่ตรงข้าม นวัตกรรมคือการทำนอกกรอบ ดังนั้น กทม. จึงจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก และให้นักวิชาการเป็นคนคิดนอกกรอบในการดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่า กทม. พร้อมสนับสนุนในการทำ Innovation District ให้กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติด้วย
“ในอนาคต กทม. จะมีแพลนในการทำนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้ง Open Data, Open Contact และการทำเทเลเมด (แอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพ) สิ่งเหล่านี้เป็นอินโนเวชันง่ายๆ ที่สามารถเปลี่ยนเมืองได้ในพริบตา แต่อย่ามุ่งเทคโนโลยีเกินไป เพราะถ้าไม่ตอบโจทย์ก็จะเป็นอินโนเวชันที่เสียเปล่า” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติยังได้กล่าวถึงการดูแลกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมว่า สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ ต้องมีหลักสูตรในการอบรม โดยไม่ได้กังวลกับเจ้าหน้าที่ เพราะมีการประเมินผลที่ทำให้ต้องฝึกฝนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กังวลคือประชาชนทั่วไป ทั้งนี้จึงมีแนวคิดที่จะทำอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน (อสท.) คล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) โดยจะหาอาสาสมัครที่อายุระหว่าง 25-30 ปี ที่รู้เรื่องเทคโนโลยีเข้าไปอยู่ในชุมชน เพื่อช่วยคนในชุมชนที่ไม่รู้เทคโนโลยี และช่วยอัปเดตข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบ โดยจะเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการและมีการฝึก อสท. ไปบางส่วนแล้ว หลังจากนี้จะดูรูปแบบในระยะยาวอีกครั้ง
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า กทม. มีพนักงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มพนักงานกวาดถนนกว่า 10,000 คน จะนำมาอบรมเทคโนโลยีด้วย อย่างน้อยจะได้มีทางเลือกในการหาอาชีพเสริม หรืออาจจะมีทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการฝึกได้ และเชื่อว่าถ้าคนกลุ่มนี้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ จะช่วยทำให้ชีวิตคนดีขึ้น
“อย่างกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหลายคนที่ทำขนมอร่อย แต่ไม่สามารถนำขึ้นแพลตฟอร์มได้ ดังนั้นหากเขาเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ก็จะทำให้เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วย และประชาชนก็จะเข้าถึงบริการของรัฐได้ ซึ่งเชื่อว่ายุคเทคโนโลยีจะทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ดีขึ้นได้” ชัชชาติกล่าวในที่สุด