จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด มาจนถึงการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและแก๊ส ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งรถโดยสารประจำทาง, รถสี่ล้อแดง ตลอดจนผู้ประกอบการรถสามล้อเครื่อง (รถตุ๊กตุ๊ก) ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ล่าสุด จากการสำรวจพบว่า มีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งการหยุดให้บริการ, ปรับลดเส้นทางเดินรถ และหยุดเก็บค่าเช่ารถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ
สมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด (หรือกรีนบัส / รถเมล์เขียว) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของโควิดทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบทั้งเรื่องภาระค่าน้ำมันและต้นทุนในการเดินรถที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากเดิมมีรถวิ่งให้บริการประมาณ 120 เที่ยวต่อวัน ก็ได้ปรับลดจำนวนรถและจำนวนเที่ยวลงเหลือประมาณ 40 เที่ยวต่อวัน
ล่าสุด วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 บริษัทจะหยุดเดินรถในบางเส้นทาง เช่น สายเชียงใหม่-เชียงราย-สามเหลี่ยมทองคำ, เชียงใหม่-เทิง, เชียงใหม่-เชียงม่วน และเชียงใหม่-แพร่ โดยจะหยุดเดินรถในเส้นทางดังกล่าวจนกว่าราคาน้ำมันจะลดลงหรือได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ทั้งนี้ คาดว่าหลังวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป จะปรับตารางเดินรถและจำนวนเที่ยวที่ลดลงให้สอดคล้องกับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องแบกรับไว้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด บริษัทมีเงินสดที่จะใช้ดำเนินธุรกิจได้อีก 1 สัปดาห์เท่านั้น หากภาครัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ก็จะต้องหยุดให้บริการในบางเส้นทาง ทำให้มีผลกระทบกับพนักงานจำนวนกว่า 300 คน ขณะเดียวกันก็ยังได้เตรียมขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว นับตั้งแต่ปี 2562 บริษัทได้กู้ยืมเงินมาใช้ดำเนินการธุรกิจแล้วถึง 80 ล้านบาท และยังมีการกู้เพิ่มเติมในปี 2563-2564 อีกด้วย
ด้าน ณัฐวุฒิ โชคทวีพูน ประธานสหกรณ์นครลานนาเดินรถ กล่าวว่า สหกรณ์มีสมาชิกสี่ล้อแดงกว่า 2,100 คัน ปัจจุบันคงวิ่งให้บริการประมาณ 1,000 คัน ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิดสมาชิกที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น ได้ปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพหรือธุรกิจอื่น เช่น การเกษตร และก่อสร้าง แทน
สำหรับสมาชิกบางส่วนที่เป็นหนี้กับสหกรณ์ก็ได้นำรถมาจอดไว้กับสหกรณ์เพื่อค้ำประกันหนี้ ซึ่งทางสหกรณ์ได้ปรับโครงสร้างหนี้และส่งมอบรถคืนให้กับสมาชิกแล้ว แต่จะเหลือค้างอยู่ประมาณ 20 คันเท่านั้น สหกรณ์จะได้เรียกสมาชิกที่เหลือมาปรับโครงการสร้างหนี้ต่อไป
ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดงก็ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 20 บาท ซึ่งต่ำกว่าที่กรมการขนส่งกำหนดไว้ เบื้องต้นหากราคาน้ำมันลิตรละ 37 บาท อาจขยับราคาเพิ่มเป็น 30 บาท ตามที่กรมการขนส่งกำหนดเพดานไว้
ส่วนมาตรการช่วยเหลือสมาชิกในอนาคต หากน้ำมันมีราคาสูงกว่าลิตรละ 37 บาท ก็จะมีการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ
- ทำหนังสือถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ
- ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอปรับราคาค่าโดยสารจากปกติ 30 บาท เป็น 35 บาท แต่ก็จะพยายามตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อความบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการในสภาวะปัจจุบัน
“ในส่วนของรถแท็กซี่ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนประมาณ 500 คัน ปัจจุบันให้บริการประมาณ 250 คัน เนื่องจากรถบางส่วนมีอายุเกิน 9 ปี แบ่งเป็นรถแท็กซี่ที่ให้บริการอยู่ภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งสหกรณ์ประมูลสิทธิ์ได้จำนวนประมาณ 150 คัน เชื่อว่าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการร้องขอให้สหกรณ์ให้ความช่วยเหลือ เพราะมีเที่ยวบินเข้าสู่เชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 100 คัน วิ่งให้บริการผู้โดยสารในจุดต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่” ณัฐวุฒิกล่าว
ด้าน ชินโชติ กมลทิพย์วงศ์ ผู้ประกอบการอู่รถสามล้อเครื่อง (รถตุ๊กตุ๊ก) เชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าของอู่ไม่มีรายได้มานานกว่า 2 ปีแล้วนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว รถตุ๊กตุ๊กกว่าครึ่งจอดทิ้งที่อู่ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งทางอู่มีมาตรการช่วยเหลือคนขับที่เป็นลูกค้าประจำของอู่ โดยให้รถไปใช้ขับเพื่อหารายได้ฟรี โดยไม่คิดค่าเช่า จากปกติอัตราค่าเช่าอยู่ที่วันละ 180-200 บาทต่อวันต่อคัน แต่มีเงื่อนไขทางคนขับจะต้องรับผิดชอบเรื่องค่าซ่อมบำรุงเอง
“ลำพังรายได้จากการขับตุ๊กตุ๊กในตอนนี้ไม่พอที่จะมาจ่ายค่าเช่ารถอย่างแน่แน่นอน เพราะทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว, จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงแล้ว รถตุ๊กตุ๊กแม้จะใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง แต่ราคาก๊าซก็มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนของคนขับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทางผู้ประกอบการอู่รถก็เห็นใจ เพราะหลายคนยึดอาชีพขับรถ เป็นลูกค้ากันมานาน สิ่งไหนที่ช่วยได้ก็ต้องช่วยกัน แม้ทางอู่จะไม่มีรายได้เลย และเมื่อคิดว่าเอารถกลับมาจอดทิ้งไว้ที่อู่ก็กลายเป็นเศษเหล็กไร้ค่า ไม่มีประโยชน์เลย” ชินโชติกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามทราบว่า แต่เดิมในจังหวัดเชียงใหม่มีรถสามล้อเครื่องหรือรถตุ๊กตุ๊กให้บริการจำนวนประมาณ 1,000 คัน แต่จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดและราคาเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันเหลือรถให้บริการไม่ถึงร้อยละ 10 หรือไม่ถึง 100 คันเท่านั้น
เรื่องและภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ