เยอรมนีเตรียมลดการใช้งานก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าลง เพื่อป้องกันไม่ให้ซัพพลายพลังงานในประเทศขาดแคลน หลังรัสเซียประกาศปรับลดปริมาณการส่งก๊าซให้กับยุโรป โดยเยอรมนีจะหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมออกมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจช่วยลดการใช้งานก๊าซธรรมชาติลงด้วย
สงครามเศรษฐกิจระหว่างยุโรปและรัสเซียได้เปิดฉากขึ้น หลังจากที่รัสเซียประกาศลดปริมาณการจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตร รวมถึงท่าทีของนานาประเทศที่ส่งความช่วยเหลือให้กับยูเครน โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้หนุนให้ราคาพลังงานทะยานขึ้นทันที และสร้างแรงกดดันให้กับเยอรมนีที่กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณการส่งมอบก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนีผ่านท่อส่ง Nord Stream ลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งเยอรมนีมองว่านี่เป็นเกมการเมืองที่รัสเซียวางแผนเอาไว้อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวว่า เยอรมนีจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อ “เราจะป้องกันตนเองอย่างเฉียบขาด แม่นยำ และรอบคอบ”
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 มิถุนายน) ฮาเบคกล่าวว่า เยอรมนีจะลดการใช้ก๊าซสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน พร้อมอนุญาตให้บริษัทด้านสาธารณูปโภคสามารถขยายการใช้งานโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้เยอรมนีมีแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ ทดแทนส่วนที่สูญเสียไปจากกลยุทธ์ของรัสเซีย
เขากล่าวว่า มาตรการประหยัดพลังงานของประเทศมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้งานก๊าซธรรมชาติลง และนำไปสะสมไว้ในคลังมากขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันว่าเยอรมนีจะมีปริมาณก๊าซเพียงพอสำหรับใช้งานในช่วงฤดูหนาว
ปัจจุบันเยอรมนีนำเข้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 35% จากรัสเซีย ซึ่งลดลงจากระดับ 55% ในช่วงก่อนเกิดสงคราม โดยก๊าซส่วนใหญ่ถูกใช้สำหรับการให้ความอบอุ่นและการผลิตในอุตสาหกรรม เมื่อปีที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วน 15% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในเยอรมนี ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับลดสัดส่วนดังกล่าวลงเพิ่มด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาคือเยอรมนีอาจไปถึงเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนได้ช้ากว่ากำหนด ซึ่งฮาเบคยอมรับว่านี่เป็นสถานการณ์ที่เจ็บปวด แต่ก็แลกมาด้วยความจำเป็น
ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมนียืนยันว่าจะดำเนินการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ จะมีความพร้อมมากพอ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลวที่ขนส่งมาทางเรือ เป็นต้น
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อหวังที่จะสะสมก๊าซไว้ในคลังให้ได้ถึง 90% ของความจุทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายน โดยขณะนี้เยอรมนีสามารถสะสมพลังงานไว้ได้ 56.7% ของความจุทั้งหมด ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางเอาไว้
แฟ้มภาพ: Waltraud Grubitzsch/picture alliance via Getty Images
อ้างอิง: