×

สนธิรัตน์ อดีต รมว.พลังงาน ชงรัฐบาล ปรับลดราคาหน้าโรงกลั่น แก้วิกฤตน้ำมันแพง

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2022
  • LOADING...
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

วันนี้ (17 มิถุนายน) ที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทย พรรคสร้างอนาคตไทยนำโดย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค, สันติ กีระนันทน์ กรรมการบริหารพรรค และ นริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนในระดับสูงจากผลกระทบสงครามรัสเซียและยูเครน

 

สนธิรัตน์กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ราคาน้ำแพง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในขณะนี้ ซึ่งตนในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองว่ายังมีแนวทางที่สามารถบริหารต้นทุนราคาน้ำมันให้ถูกลงเพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ โดยได้เคยทำมาแล้วสมัยตนเป็นรัฐมนตรีฯ แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีทั้งมาตรการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน และการแก้ปัญหาเชิงรุกในระยะยาวให้ครอบคลุม สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วนที่สามารถทำได้และต้องทำทันทีคือ การลดราคาหน้าโรงกลั่นลง โดยทบทวนการอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ชั่วคราว ด้วยการหักค่า FIL ได้แก่ ค่าขนส่ง ประกันภัย และค่าความสูญเสียออกในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ 

 

“มาตรการที่เสนอมานี้สามารถทำได้และต้องทำทันทีในช่วงที่ประชาชนลำบาก การงดการอ้างอิงชั่วคราวถือเป็นการลดต้นทุนแฝงในราคาน้ำมันได้ โดยรัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการเข้าไปดูแลและหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่น เพื่อหาจุดตรงกลางที่สามารถเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกันได้ ที่สำคัญรัฐไม่ควรปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินเพดานที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ขยับขึ้นตามค่าขนส่ง กระทบค่าครองชีพประชาชน ขณะเดียวกันก็ยังกระทบไปถึงต้นทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เหมือนวิกฤตซ้ำวิกฤตอีกด้วย” สนธิรัตน์กล่าว

 

ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงรุกระยะยาว สนธิรัตน์ได้เสนอ 3 แนวทางสำคัญคือ

 

  1. การพิจารณาเพดานค่าการกลั่นให้มีความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนผู้บริโภคและผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยพิจารณาในส่วนของค่าพรีเมียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยืดหยุ่นได้ ซึ่งตรงนี้รัฐต้องเป็นเจ้าภาพเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน 

 

  1. การหาแหล่งพลังงานราคาถูกในต่างประเทศเพิ่มเติม

 

  1. การสร้างยุทธศาสตร์พลังงานระยะยาว 2 แนวทาง คือ  

 

3.1 การวางแผนการสำรองน้ำมันในภาวะวิกฤต (Storage Petroleum Reserve) ซึ่งเป็นแผนที่ใช้รองรับช่วงที่เกิดวิกฤต โดยสามารถดำเนินการในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาถูกลง เพื่อสำรองใช้เมื่อเกิดวิกฤต นอกเหนือจากการใช้เพียงกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว 

 

3.2 การหันมาใช้ภาษีคาร์บอน ที่สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกับภาษีสรรพสามิต เพื่อนำเงินภาษีนี้มาใช้ส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทางเลือก ซึ่งพรรคมีนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ทั่วประเทศ ซึ่งจะลดการพึ่งพิงพลังงานจากปิโตรเลียมลง

ด้านสันติได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันมีกำไรที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเทียบตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีกำไรมหาศาล และคาดการณ์จากผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเห็นกลุ่มโรงกลั่นจะมีกำไรพุ่งขึ้นกว่า 28% หากคิดเป็นผลประกอบการเต็มปี นอกจากนั้นโรงกลั่นใหญ่ 3 โรงซึ่งเป็นผู้นำตลาด ล้วนแล้วแต่มี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นแต่ละบริษัทไม่น้อยกว่า 45% ของหุ้นทั้งหมด และ ปตท. เองก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51.11% และยังมีกองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้นอีก 12.16% ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงกลั่นก็คือรัฐนั่นเอง เชื่อว่ารัฐสามารถมีมาตรการเพื่อให้บริษัทเหล่านั้นเปลี่ยนจากการมุ่งทำกำไรระยะสั้นลง แต่หันไปมองผลกำไรระยะยาว ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) แทน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X