วันนี้ (17 มิถุนายน) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่าที่ประชุม ศบค. มีการพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการหลายประเด็น แต่ไฮไลต์สำคัญจากที่ประชุมครั้งนี้ เริ่มจากการปรับพื้นที่โซนสีให้ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว (พื้นที่เฝ้าระวัง) และยกเลิกพื้นที่สีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว)
นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขการสวมหน้ากากอนามัย สำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ดังนี้
- สถานที่ภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง
- ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือมีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม ฯลฯ
- ถอดหน้ากากอนามัยได้ในบางพื้นที่ โดยเน้นว่าอยู่ที่ความสมัครใจของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในที่โล่ง และนักกีฬาที่ออกกำลังกายสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้
- สถานที่ภายในอาคาร
- ให้สวมหน้ากากอนามัย
- สามารถ ‘ถอดหน้ากากอนามัย’ ได้เฉพาะกรณี
- อยู่คนเดียว
- หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกัน ต้องเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด และอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดีไม่แออัด
- มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัย เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดง ฯลฯ (ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้นควรสวมหน้ากากอนามัยทันที)
ทั้งนี้ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันความเสี่ยง รวมถึงผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น
ส่วนมาตรการผ่อนคลายด้านอื่นๆ ที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม ศบค. มีดังนี้
- การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามปกติตามที่กฎหมายกำหนด
- การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ
- ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่อาคาร (อาจให้มีการคัดกรองในสถานที่เสี่ยง หรือสถานที่ที่มีการระบาดเท่านั้น)
- การตรวจคัดกรอง ATK ให้ตรวจเฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ หรือมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. ยังมีการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีดังนี้
- ยกเว้นการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ทั้งชาวไทยและต่างชาติ
- ผู้เดินทางแสดงเอกสารการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจเชื้อ
- ให้ดำเนินการสุ่มตรวจผู้เดินทาง (หากสุ่มแล้วผู้เดินทางไม่มีเอกสารรับรองใดๆ จะดำเนินการตรวจ Pro-ATK ที่สนามบิน) จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- คงระบบ และเปลี่ยนหน้าที่ Thailand Pass สำหรับโรคโควิด เพื่อให้ผู้เดินทางใช้แจ้งรายงานกรณีมีอาการต้องสงสัยโรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบข้อเสนอผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค สำหรับการเดินทางเข้าประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีดังนี้
- ยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass หรือ CoE ของชาวต่างชาติ โดยขอให้สำแดงเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจหาเชื้อแบบต่างๆ โดยให้มีการสุ่มตรวจเอกสาร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
- ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิและอาการทางเดินหายใจ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
- ยกเลิกการกำหนดเงินประกัน (ส่งเสริมการซื้อประกัน)
นพ.ทวีศิลป์กล่าวช่วงท้ายว่า นายกรัฐมนตรียังได้ฝากความห่วงใยในที่ประชุมว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ พร้อมขอความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยภาคสมัครใจ เพราะยังเป็นการป้องกันที่ดีและมีราคาประหยัด และสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย