วันที่ 16 มิถุนายนจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา หลังจากที่เหล่าสมาชิกของสโมสร หรือ Socios ได้เข้าร่วมการประชุมนัดพิเศษในวาระแผนการฝ่าวิกฤตทางการเงินของสโมสร และมีมติรับรองแผนที่คาดว่าจะทำให้สโมสรได้เงินกลับมาราว 700 ล้านยูโร และทำให้สโมสรกลับมามีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งอีกครั้ง
จากการบริหารที่เลวร้ายภายใต้การนำของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว อดีตประธานสโมสรที่ทำให้ทีมที่ยิ่งใหญ่และมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก (ตามการจัดอันดับของ Forbes ปีล่าสุด) ต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นหนี้สินมหาศาลถึงกว่า 1.35 พันล้านยูโร และทำให้ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
ความเลวร้ายนั้นถึงขั้นทำให้สโมสรไม่สามารถรั้งตัว ลิโอเนล เมสซี นักเตะผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของสโมสรเอาไว้ได้ และต้องอยู่ในสภาพน่าอดสูเมื่อถูกกฎการเงินของลาลีกาบีบจนทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนนักฟุตบอลได้ ต้องขอให้นักเตะลดค่าเหนื่อยลง 50 เปอร์เซ็นต์ และอีกหลายอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับบาร์เซโลนา
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาเลวร้ายกำลังจะผ่านไปเมื่อ โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสรที่เคยนำทีมผงาดเป็นสุดยอดทีมของโลก ซึ่งกลับมากอบกู้สโมสรตั้งแต่ปีกลายได้ขอเชิญสมาชิกของสโมสรเข้าร่วมประชุมนัดพิเศษเพื่อลงมติในแผนการฝ่าวิกฤตทางการเงินของสโมสร
บันได 2 ขั้นสู่การเป็นอิสระ
ตามการเปิดเผยของ เอดูอาร์ด โรเมอู รองประธานสโมสรฝ่ายการเงิน ซึ่งเข้ามาจัดการปัญหาหนี้สินของสโมสรและมองเห็นสภาพความเป็นจริงทั้งหมดนั้น บาร์ซาต้องการเงินอย่างน้อย 500 ล้านยูโร เพื่อที่จะทำให้ทีมกลับมาหายใจหายคอได้อีกครั้ง ไม่ติดบ่วงพันธนาการจากกฎการเงิน Financial Fair Play ของลาลีกา
และนั่นนำไปสู่แผนพิเศษนอกเหนือจากการหารายได้ปกติ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบาร์ซาปิดดีลให้ Spotify ได้สิทธิ์ทั้งการใช้ชื่อสนามและการเป็นสปอนเซอร์หลักบนหน้าอกเสื้อที่ได้เงินมา 280 ล้านยูโร ไปจนถึงการพยายามหารายได้อย่างการเปิดให้แฟนบอลที่สนใจมาเล่นฟุตบอลในคัมป์นู หรือการจัดพิธีแต่งงานในสนาม
แผนการพิเศษนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้นด้วยกัน
ขั้นแรกคือการขายหุ้นของ Barca Licensing & Merchandising (BLM) บริษัทลูกที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและลิขสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายสินค้า โดยจะขายหุ้นไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ของที่มีทั้งหมด ซึ่งคาดหวังว่าจะทำเงินกลับมาอย่างน้อย 200-300 ล้านยูโร
ในขั้นนี้บาร์ซายังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้สนใจ โดยมีผู้ที่ยื่นข้อเสนอมา 275 ล้านยูโร แต่ยังไม่มีการตกลงแต่อย่างใด
ขั้นที่สองที่สำคัญกว่าคือการขายลิขสิทธิ์โทรทัศน์ของสโมสรจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ของทั้งหมดออกไป (เพื่อให้สโมสรยังครอบครองรายได้ส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) โดยคาดหวังว่าจะสามารถทำข้อตกลงขายลิขสิทธิ์จำนวนนี้เป็นเวลา 25 ปี เพื่อแลกกับเงินราว 500 ล้านยูโร
ลาปอร์ตาเปิดเผยว่า มีผู้ที่สนใจขอยื่นข้อเสนอ 1 พันล้านยูโร แลกกับลิขสิทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม เป็นระยะเวลา 10 ปี (หรือคิดเฉลี่ยปีละ 100 ล้านยูโร) แต่ได้ปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้ว
การลงมติครั้งประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่บาร์เซโลนาไม่ใช่สโมสรฟุตบอลทั่วไป ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของสโมสรคือ Socios ซึ่งจะเป็นคนที่ตัดสินใจว่าจะให้สโมสรเดินหน้าไปในทิศทางไหน
นั่นเป็นที่มาของการนัดประชุมพิเศษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขอการรับรองจากเหล่า Socios ทั้งหลาย
ในการประชุมครั้งนี้ ลาปอร์ตาและโรเมอูได้มีการชี้แจงถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของสโมสร ทั้งเรื่องสถานะทางการเงินที่ยังไม่ดีมากแต่ถือว่าดีขึ้นกว่าปีกลาย และต้องการเงิน 500 ล้านยูโร เพื่อทำให้สโมสรลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ไปจนถึงการชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับการขายหุ้น BLM และการขายลิขสิทธิ์โทรทัศน์
ก่อนที่จะมีการลงมติกันใน 2 วาระ โดยวาระแรกเกี่ยวกับการขายหุ้น BLM ซึ่งลาปอร์ตายืนยันว่าจะมีการระบุในเงื่อนไขชัดเจนว่า ‘สโมสรมีสิทธิ์ซื้อคืน’ ซึ่งหากมีทีมบริหารชุดใหม่เข้ามารับช่วงต่อในอนาคตก็สามารถจะทวงสมบัติของบาร์ซากลับมาได้
ในวาระนี้ Socios ลงมติรับรองจำนวน 568 เสียง คัดค้าน 65 เสียง และมี 13 คนที่งดออกเสียง
จากนั้นคือการลงมติในเรื่องของการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งจะต้องทำภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ผลออกมาว่ามีผู้รับรอง 494 เสียง คัดค้าน 52 เสียง และ 13 คนที่งดออกเสียง
นั่นหมายถึงบาร์ซาได้รับฉันทามติจากสมาชิกของสโมสรให้เดินหน้าในแผนฝ่าวิกฤตของสโมสรที่สำคัญที่สุด
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการลงมติ
การลงมติรับรองครั้งนี้จะทำให้ฝ่ายบริหารสามารถเดินหน้าในแผนการที่วางไว้ และคาดว่าจะทำเงินกลับมาได้อย่างน้อย 700 ล้านยูโร
เงินจำนวนนี้จะถูกเติมเข้ามาในสภาพคล่องของสโมสรและจะทำให้ทีมไม่ติดกับ FFP เหมือนในฤดูกาลที่แล้วอีก บาร์ซาไม่ต้องบากหน้าไปขอลดค่าเหนื่อยผู้เล่น ไม่ต้องรอเซ็นสัญญาฟรี (และยังลงทะเบียนนักเตะไม่ได้ เหมือนรายของ อันเดรียส คริสเตนเซน และ แฟรงค์ เคสซี) หรือจำเป็นต้องขายนักเตะกินอย่างกรณีของ แฟรงกี เดอ ยอง ที่ตั้งท่าจะขายให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก่อนหน้านี้อีก
ความเข้มแข็งทางการเงินจะทำให้บาร์ซากลับมาบริหารสโมสรในสภาวะ ‘เกือบปกติ’ ได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าเราจะได้เห็นการย้ายเข้ามาของนักเตะที่ ชาบี เอร์นานเดซ โค้ชของทีมต้องการ ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี หัวหอกเบอร์หนึ่งของโลก หรือ ฌูลส์ กุนเด ปราการหลังอนาคตไกลของเซบียา ที่ทั้งสองมีใจให้บาร์ซาชัดเจน
ขณะที่รายของเดอ ยอง จะไม่ถูกบังคับขายแล้ว แต่อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการย้ายสลับขั้วกับ แบร์นาร์โด ซิลวา มิดฟิลด์ตัวทำเกมของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ต้องการย้ายออกจากอังกฤษด้วยเหตุผลส่วนตัวและหมายปองจะย้ายมาคัมป์นูเช่นกัน
ส่วนข่าวดีที่มีการประกาศในระหว่างการประชุมคือ สโมสรใกล้ต่อสัญญากับกาบี เพชรเม็ดงามของสโมสรที่มีข่าวว่าลิเวอร์พูลและอีกหลายทีมใหญ่จับจ้อง และลาปอร์ตายังกล่าวว่า สโมสรจะมีการขับนักเตะบางส่วนที่ไม่อยู่ในแผนการทำทีมและเป็นภาระทางการเงินของสโมสรออกไปด้วย ซึ่งมีหลายราย เช่น มาร์ติน เบรธเวต, มิราเล็ม ปานิช, ซามูเอล อุมติตี้
เรียกได้ว่าทุกปัญหาที่มีก่อนหน้านี้จะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเสียที และนั่นหมายถึงบาร์ซาจะกลับมาเป็นทีมที่ผงาดได้อย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้ง ไม่ต้องอยู่ในสภาพที่น่าอดสูเหมือนก่อนหน้านี้อีกแล้ว
นับได้ว่าเป็นสุดยอดผลงานของลาปอร์ตาและทีมงานบริหารที่เข้ามากอบกู้สโมสรที่กำลังจะล่มสลายได้อย่างน่าอัศจรรย์
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่วันที่ 16 มิถุนายน จะเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกบันทึกไว้ของสโมสรบาร์เซโลนา
อ้างอิง:
- https://www.fcbarcelona.com/en/club/news/2647931/extraordinary-general-assembly-approves-the-sale-of-a-minority-stake-in-blm-to-one-or-more-investors
- https://www.barcablaugranes.com/2022/6/16/23171584/barcelona-members-approve-sale-of-blm-and-television-rights
- https://barcauniversal.com/understanding-la-ligas-financial-fair-play-rules-and-barcelonas-transfer-struggles/