×

จับตาร่างสมรสเท่าเทียมก่อนไปต่อวาระที่ 2 อาจกลายร่างเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต

16.06.2022
  • LOADING...

หลังจากผ่านพ้นการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 (รับหลักการ) ต่อร่างกฎหมาย 4 ร่าง ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้แก่

 

ร่างที่ 1 – ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)

(ร่างสมรสเท่าเทียม เสนอโดย พรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขมาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง)

 

ร่างที่ 2 – ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (เสนอโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ)

 

ร่างที่ 3 – ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)

(ร่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ)

 

ร่างที่ 4 – ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์)

 

สมรสเท่าเทียม

 

ผู้เขียนมีความชื่นชมยินดียิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศลำดับต่อไปของโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Act) ประกาศใช้เป็นกฎหมายในอนาคตอันใกล้นี้ และบุคคลเพศหลากหลายในประเทศไทยจะได้มีกฎหมายคุ้มครองการก่อตั้งครอบครัวและปกครองบุตรเสียที หลังจากรอคอยกว่า 10 ปี

 

 

 

ในขณะเดียวกันผู้เขียนเกิดความกังวล ด้วยสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการวิสามัญออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกลุ่มที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยใช้ร่างกฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (ร่างของ ครม.) ทั้งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นร่างหลักในชั้นกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 2 กลุ่มกฎหมาย

 

จากนี้ไปผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง ที่สนับสนุนร่างสมรสเท่าเทียม และภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มบุคคลเพศหลากหลาย (LGBTQIA+) คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด มิให้การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญและในชั้นสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 (พิจารณารายมาตรา) ทำให้ร่างสมรสเท่าเทียม (ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง) ถูกกระทำให้กลายร่างเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และต้องติดตามผลลัพธ์ (Output) ที่จะได้จากคณะกรรมาธิการวิสามัญ ต้องประกอบด้วยร่างกฎหมาย ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 – ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)

(เพื่อแก้ไขมาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง หรือร่างสมรสเท่าเทียม)

 

กลุ่มที่ 2 – ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ. แก้ไข เกี่ยวเนื่องกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต)

 

เราคงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า หากเรามีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ปพพ.) ประกาศใช้เป็นกฎหมายพร้อมกัน ทำให้ทุกเพศทั้งชายหญิงทั่วไปและบุคคลเพศหลากหลาย สามารถเลือกที่จะจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือจดทะเบียนเป็นคู่สมรสตาม ปพพ. ก็ได้ จะมีคู่รักเพศหลากหลายและคู่รักชายหญิงทั่วไปกี่คู่เลือกจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต หากรับทราบว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้สิทธิและสวัสดิการน้อยกว่าคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ปพพ.) (ตามร่าง ณ วันพิจารณา วาระที่ 1)

 

 

และการประกาศใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมาย จะมีผู้ตีความว่า ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ที่ให้หลักการว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน’ หรือไม่?

 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

FYI
  • ขอขอบคุณ คุณฉัตรชัย เอมราช นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยให้ความเห็นและเอื้อเฟื้อข้อมูล
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising