ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของไทยมีมติรับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ 4 ฉบับ วาระแรก เมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน) ซึ่งได้แก่
- ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่ง ครม. เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ซึ่ง ครม. เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานข่าวความคืบหน้าครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ในการผลักดันกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยสำนักข่าว Reuters ชี้ว่า การโหวตรับหลักการวาระแรกของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ ทำให้ไทยขยับเข้าใกล้การเป็นดินแดนที่ 2 ของทวีปเอเชียต่อจากไต้หวัน ที่อนุญาตให้การสมรสของเพศเดียวกันทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
Reuters ชี้ว่า ไทยนั้นเป็นประเทศที่เปิดกว้างและพบเห็นชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ได้มากที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชีย นอกเหนือไปจากภาพลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในฐานะจุดหมายปลายทางของการพักผ่อนวันหยุด
แต่นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศระบุว่า กฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทยยังไม่สะท้อนถึงทัศนคติทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังคงเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ และคู่รักเพศเดียวกัน
ขณะที่สำนักข่าว AFP ระบุว่า ไทยกำลังก้าวเดินไปสู่การสมรสเท่าเทียม หลังบรรดา ส.ส. ให้การยอมรับต่อการครองคู่ตามกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองที่พยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่างพากันเฉลิมฉลองและร้องไห้ด้วยความดีใจ
AFP ชี้ว่า ประเทศไทยนั้นมีจุดเด่นในการเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีชุมชน LGBTQ ที่พบเห็นได้ชัดเจน ถึงแม้ว่าบางคนจะยังเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ
ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระแรกนี้ถือเป็นสัญญาณอันดีใน Pride Month ที่แสดงให้เห็นว่ามี ส.ส. ที่ต้องการความเท่าเทียมและลงมติรับรองให้กับร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้
“ฉันมีความสุขและดีใจมาก ถือเป็นสัญญาณที่ดีใน Pride Month ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการความเท่าเทียมและลงมติให้กับร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ” นาดา ไชยจิตต์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ กล่าวกับ AFP แต่มองว่า “หนทางนั้นยังอีกยาวไกล”
อ้างอิง: