×

Kick-ins! เตะแทนทุ่ม จับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ? จับตาการเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ในโลกฟุตบอล

14.06.2022
  • LOADING...
Kick-ins

ตกลงจะทุ่มหรือจะเตะ?

 

คำถามนี้อาจเป็นสิ่งที่นักเตะสมัครเล่นโต๊ะเล็กหลายคนเคยถามเพื่อนมาก่อน โดยเฉพาะเวลาที่ไปเยือนสนามใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แต่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นคำถามในวงการฟุตบอลระดับโลก เมื่อผู้คุมกฎของโลกลูกอย่าง International Football Association Board (IFAB) ลงมติให้มีการทดสอบการเตะเข้า (Kick-ins) แทนการทุ่ม (Throw-ins)

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ (Semi-automated offside) และเรื่องของการเปลี่ยนตัวสำรองเป็น 5 คนด้วย

 

ทั้งหมดคือการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองของเกมฟุตบอล และอยากชวนมาทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจริงไหมและจะเกิดขึ้นเมื่อไร?

 

เปลี่ยนจากทุ่มเป็นเตะ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและฮือฮาที่สุดด้วยเช่นกัน เพราะตลอดความทรงจำของทุกคน เราก็เห็นแต่การทุ่มเข้า (Throw-ins) มาตลอด แต่ในการประชุมของ IFAB ล่าสุดได้มีการตกลงให้มีการทดสอบการเตะเข้า (Kick-ins) เข้ามาแทน

 

เจ้าของไอเดียสุดประหลาดนี้คือปราชญ์ลูกหนังอย่าง อาร์แซน เวนเกอร์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Football Development โดยแนวคิดของอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอลนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้เร่งเกมให้เร็วขึ้น เพราะหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เสียเวลาในการแข่งขันคือการทุ่ม

 

เวนเกอร์เคยกล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า “มีการถ่วงเวลาหนักๆ อยู่ 2 ประเภทในเกมฟุตบอลตอนนี้ อย่างแรกคือการทุ่มเข้า อีกอย่างคือการเตะลูกฟรีคิก และอาจรวมถึงการเตะเปิดจากประตู (Goal-kicks) ด้วย

 

“เป้าหมายก็คือการทำให้เกมนั้นดูน่าสนใจและเร็วขึ้น ซึ่งบางทีกับการทุ่มเราอาจจะเปลี่ยนมาเล่นโดยใช้เท้าแทน แต่มีการจำกัดเวลาที่ 5 วินาที อันนี้ยกตัวอย่างให้ฟังก่อน”

 

โดยที่ต้องทำแบบนี้เวนเกอร์อธิบายว่า เป็นการทำเพื่อตอบสนองต่อเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะ “การทำให้เกมเร็วขึ้นนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เด็กรุ่นใหม่มีความอดทนน้อยลง และเราเห็นได้จากพฤติกรรมของเด็กอายุ 12-18 ปี พวกเขาจะไม่เปิดทีวีแล้วนั่งดูเกมไปตลอดทั้ง 90 นาที ตอนนี้ทุกอย่างอยู่บนโทรศัพท์มือถือแล้ว ดังนั้นเราต้องปรับตัว”

 

อย่างไรก็ดี ไอเดียการเตะเข้านั้นไม่ใช่ไอเดียที่เพิ่งเสนอ แต่มีการเสนอมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 และจะมีการทดสอบหลังจากนี้ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนจากการทุ่มเข้าเป็นการเตะเข้าทั้งหมด หรือจะให้เตะเข้าเฉพาะบอลที่อยู่ในแดนรับ

 

นั่นหมายถึงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียวกว่าจะเริ่มทดสอบอย่างจริงจัง แล้วจึงตัดสินใจอีกครั้งว่าจะมีการใช้งานจริงหรือไม่ในอนาคต

 

จับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ

สิ่งที่จะมาไวกว่าการเตะเข้าคือเทคโนโลยีการตรวจจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ (Semi-automated VAR offside technology) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการพัฒนามาระยะหนึ่งและเริ่มมีการทดสอบการใช้งานแล้ว

 

โดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้ให้มีการทดสอบเทคโนโลยีใหม่นี้ในการแข่งขันฟุตบอลคลับเวิลด์คัพ หรือการชิงแชมป์สโมสรโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คล้อยหลังจากที่มีการเริ่มแนะนำเทคโนโลยีนี้แค่ 2 เดือน และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์สำหรับฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

“ตอนนี้ถือว่ามันดูดีและดูมีความหวังมาก” จานนี อินฟานติโน ประธาน FIFA กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “ผู้เชี่ยวชาญของเรากำลังดูผลการทดสอบก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะมีการใช้ในฟุตบอลโลกหรือไม่”

 

สำหรับเทคโนโลยีนี้จริงๆ แล้วคือการอัปเกรด VAR เกี่ยวกับกรณีของการตีความว่าล้ำหน้า ซึ่งจากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาถึง 4 นาทีในการตัดสินด้วย VAR (กว่าจะตีเส้น กว่าที่ VAR จะมีคำแนะนำให้ผู้ตัดสิน และบ่อยครั้งที่ไม่เคลียร์) ก็จะลดลงเหลือแค่ 3-4 วินาทีเท่านั้น ผ่านการใช้ตัวตรวจจับลูกฟุตบอลอัตโนมัติและการสร้างโมเดล 3 มิติ เพื่อแสดงตำแหน่งของผู้เล่น

 

แต่คนที่ตัดสินสุดท้ายยังเป็นอำนาจของผู้ตัดสินในสนามอยู่ดี

 

ปิแอร์ลุยจิ คอลลินา ตำนานผู้ตัดสินชาวอิตาลี ยังแย้มว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะยกประโยชน์ให้ผู้เล่นในแนวรุกมากขึ้น การล้ำหน้าแบบก้ำกึ่ง (เช่น รักแร้ล้ำหน้า) จะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

 

หากใช้ในฟุตบอลโลกได้ผลดี เราจะได้เห็นเทคโนโลยีนี้ในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลต่อไป 2023/24 ด้วย

 

ตัวสำรอง 5 คน

 

อีกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก่อนเพื่อนคือ นับจากนี้ FIFA อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวสำรองได้ 5 คนทุกรายการอย่างถาวร หลังจากที่มีการทดสอบใช้ในช่วงโรคระบาดโควิดที่ผ่านมา เพื่อช่วยถนอมร่างกายของนักฟุตบอลที่ต้องกรำศึกหนักต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและได้ผลดี

 

โดยการเปลี่ยนตัว 5 คนจะยังคงให้มีการเปลี่ยนตัวได้ทั้งหมด 3 ครั้ง บวกกับในช่วงพักครึ่งเวลา และจะมีการเพิ่มจำนวนตัวสำรองสูงสุดจาก 12 เป็น 15 คน โดยจำนวนขึ้นอยู่กับผู้จัดการแข่งขัน

 

ทั้งนี้ หากใช้ในฟุตบอลโลกทันที นั่นหมายถึงทีมชาติจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้เล่นในทีมจาก 23 เป็น 26 คนได้

           

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ IFAB มีการหารือ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีการนำมาถกเถียงกันในการประชุมประจำปีของเหล่าผู้คุมกฎลูกหนังยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ

 

  • การให้ผู้ตัดสินติดตั้งกล้องไว้ที่ตัวสำหรับการตัดสินในเกมการแข่งระดับรากหญ้าในรุ่นผู้ใหญ่ (Adult Grassroots Football)
  • การทดสอบการคำนวณเวลาเล่นใหม่ ซึ่งอาจจะมีการใช้ ‘Stop Clock’ ที่จะนับเวลาเฉพาะที่บอลอยู่ในการเล่น และหยุดในเวลาที่บอลไม่ได้อยู่ในการเล่น เพราะข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2021/22 มีค่าเฉลี่ยบอลที่อยู่ในการเล่นแค่ 55 นาที กับอีก 3 วินาที
  • จากข้อข้างบนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเวลาแข่งขันจาก 90 นาที เหลือแค่ 60 นาที (นับเฉพาะเวลาบอลเล่น)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising