×

พิษ ‘เงินเฟ้อ’ ทำชาวสหรัฐฯ ปรับพฤติกรรมครั้งใหญ่ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เน้นความคุ้มค่ามากขึ้น

09.06.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันในเวลานี้กำลังปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองครั้งใหญ่ จากที่เคยใช้จ่ายเพื่อความพึงพอใจและความสุขสบายส่วนตัวเป็นหลัก ก็หันมาจับจ่ายโดยเน้นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ในปริมาณที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด

 

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่างหันไปซื้อข้าวของใน Dollar Stores ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นขายของราคาถูกหรือสินค้าลดราคา เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านไปสิบกว่าปี รูปแบบการใช้จ่ายที่เน้นความคุ้มค่า ไม่เน้นแบรนด์หรือยี่ห้อใดๆ ก็กลับมาอีกครั้งในช่วงที่เงินเฟ้อขึ้นเร็วที่สุดและน้ำมันกับอาหารแพงที่สุดในรอบหลายสิบปี

 

แม้โดยรวมแล้วพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะแข็งแกร่งมากขึ้นจากช่วงปี 2008 โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราการว่างงานที่ลดลงแตะระดับต่ำสุด แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้กำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลง

 

Walmart และ Target สองยักษ์ใหญ่ค้าปลีกชั้นนำของสหรัฐฯ ระบุว่า แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง แต่ลูกค้าจำนวนมากกำลังเปลี่ยนนิสัยการจับจ่าย โดยผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นลังเลที่จะซื้อสินค้าที่มีราคาสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ และเปลี่ยนการใช้จ่ายเป็นสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและของใช้ในครัวเรือน

 

รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายนี้เป็นประโยชน์ต่อร้าน Dollar Stores ซึ่งส่วนใหญ่ขายอาหารและของใช้ประจำวันในราคาที่คุ้มค่าตามปริมาณและขนาดของสินค้า

 

Todd Vasos ซีอีโอของ Dollar General (DG) ซึ่งเป็นเครือข่าย Dollar Stores ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ กล่าวว่า กำลังเห็นลูกค้าหลักคือกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ‘เริ่มจับจ่ายซื้อของอย่างตั้งใจมากขึ้น’ ส่วนลูกค้าที่มีรายได้สูงก็เปลี่ยนรูปแบบการซื้อของด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้ Dollar General วางแผนที่จะเพิ่มสินค้ามูลค่า 1 ดอลลาร์ รวมทั้งแบรนด์สินค้าที่ทางบริษัทผลิตขึ้นเองเพิ่มเข้ามาในชั้นวาง หวังดึงดูดลูกค้าที่มีเงินสดไม่มากนัก

 

นอกจากวิกฤตเงินเฟ้อจะบีบให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอดแล้ว ทาง Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ส่งสารเตือนระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษว่า วิกฤตด้านอาหารที่เกิดจากสงครามยูเครนอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายปี ซึ่งประเทศในแอฟริกาอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะการขาดแคลนข้าวสาลีและปุ๋ย

 

รายงานระบุว่า ขณะนี้มีข้าวสาลีและธัญพืชหลายล้านตันถูกทิ้งไว้ที่โกดังและท่าเรือของยูเครน เนื่องจากสงครามทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่ง Ngozi กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ราคาธัญพืชพุ่งสูงขึ้นทั้งๆ ที่มีผลผลิตล้นเหลือ

 

ทั้งนี้ ยูเครนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 9% ของตลาดโลก นอกจากนี้ยูเครนยังส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันถึง 42% และส่งออกข้าวโพดอีก 16% ของยอดส่งออกข้าวโพดทั่วโลก

 

ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกระบุว่า ขณะนี้ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันดอกทานตะวันเพิ่มขึ้น 30% และราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 23%

 

เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นทางองค์การสหประชาชาติกำลังเป็นผู้นำในความพยายามที่จะสร้าง ‘ระเบียงธัญพืช’ (Grain Corridor) เพื่อให้ยูเครนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรของตนเองได้ โดยจัดให้มีกองกำลัง เช่น กองทัพเรือตุรกี คอยคุ้มกันเรือบรรทุกที่ออกจากท่าเรือโอเดสซาและท่าเรืออื่นๆ ของยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม Sergey Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตือนว่า ยูเครนน่าจะจำเป็นต้องเคลียร์ทุ่นระเบิดออกจากท่าเรือในทะเลดำเสียก่อน พร้อมย้ำว่า รัสเซียพร้อมที่จะรับประกันความปลอดภัยของเรือที่ออกจากท่าเรือยูเครนและมุ่งหน้าไปยังน่านน้ำตุรกี

 

ขณะเดียวกัน ทางยูเครนได้ออกมาระบุว่า ต้องการการรับประกันความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพก่อนจึงจะสามารถเริ่มการขนส่งได้ ด้วยเกรงว่ารัฐบาลกรุงมอสโกอาจใช้โครงการระเบียงธัญพืชเป็นโอกาสเข้าโจมตีเมืองโอเดสซาจากทางทะเล

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X