×

UddC และภาคี เสนอแนวคิดพลิกพระโขนง-บางนา จากย่านชายขอบสู่นครเกตเวย์ ชัชชาติร่วมรับฟัง

โดย THE STANDARD TEAM
08.06.2022
  • LOADING...
UddC และภาคี

วันนี้ (8 มิถุนายน) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, we!park, PNUR, Local Dialects, User-Friendly และ BUILK ONE GROUP ร่วมกันจัดงาน ‘พระโขนง-บางนา 2040 อนาคต ความฝัน ย่านของเรา’ ที่ห้อง Amber 1-3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมี ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเปิดงาน 

 

ในงานมีการจัดแสดงผลงานการออกแบบเมือง พระโขนง-บางนา 2040 ใน 33 จินตนาการทางเลือก โดยนิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมีการจัดเสวนาพูดคุยถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาเชิงนโยบาย

 

ส่วนสำคัญของงานนี้คือการนำเสนอ ‘โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา’ เพื่อพัฒนาพื้นที่โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 

  • ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล อาจารย์ประจําภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการ UddC 
  • ยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา จำกัด และผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park  
  • พิชชาภา จุฬา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.), ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. และ ชนะ รุ่งแสง กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมฟังการนำเสนอ

 

ผศ.ดร.นิรมลได้กล่าวถึงศักยภาพของพื้นที่พระโขนง-บางนาในการพลิกจากย่านชายขอบสู่การเป็นเกตเวย์ของ กทม. ด้วย 3 ปัจจัยที่เข้าถึงได้ง่าย ได้แก่ ราคาที่อยู่อาศัย การสัญจร และสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่กระจุกตัวกันอย่างหนาแน่น มีการรวมกลุ่มขององค์กรด้านนวัตกรรม ทำให้เกิดโอกาสในการเป็นแหล่งงาน 

 

ถึงอย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงศักยภาพสูงสุดของพื้นที่ แต่ในปัจจุบันพระโขนง-บางนายังประสบปัญหาสภาพแวดล้อมและสาธารณูปโภค เช่น มีซอยตันจำนวนมาก มีสัดส่วนพื้นที่เดินได้เพียง 8% จากพื้นที่ทั้งหมด มีการจราจรติดขัด พื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดแคลนพื้นที่การเรียนรู้ สาธารณสุขขาดแคลน พื้นที่เปราะบางน้ำท่วมง่าย และมีคลองยาวหลาย 10 กิโลเมตรที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์

 

เพื่อผลักดันให้พระโขนง-บางนากลายเป็นใจกลางเมือง (Downtown) ทาง UddC ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชนทั้ง 79 เขต ได้ลงพื้นที่ ศึกษา และพูดคุยก่อนจะกำหนดเป็น 11 ทิศทางใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่

 

  1. แผนพัฒนาระดับย่านจากการมีส่วนร่วม
  2. ย่านน่าอยู่ดึงดูดเศรษฐกิจใหม่
  3. ย่านเดินได้เดินดี
  4. พัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก
  5. ปรับปรุงอาคารเก่าเป็นพื้นที่เรียนรู้
  6. พัฒนาที่ดินรอการพัฒนาสู่พื้นที่สร้างสรรค์
  7. พัฒนาพื้นที่ริมคลอง
  8. พัฒนาการสัญจรเชื่อม รถ/ราง/เรือ
  9. พัฒนาพื้นที่ทดลองนวัตกรรม
  10. พัฒนาโมเดล ‘จตุรภาคี’
  11. ทดลองจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม

 

ผศ.ดร.นิรมลยังได้กล่าวเสริมถึงทิศทางใหม่ในการกระจายเศรษฐกิจระดับย่านสู่รายย่อย และเน้นย้ำถึงการมีส่วนรวมของจตุรภาคี หรือ PPPPs ได้แก่ ภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อก้าวข้ามการทำงานแบบแยกส่วน

 

ทางด้านยศพลจาก we!park ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวใน กทม. ด้วยการผลักดันพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กตามพื้นที่รกร้าง ซึ่งต้องผสมผสานความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการวางแผน ก่อสร้าง และดูแลรักษา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง แต่ยังเป็นการสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่อย่างการว่าจ้างคนดูแลสวนหรือรุกขกร โดยยศพลได้ยกตัวอย่างพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศน์, สวนชุมชนโชฎึก, Sansiri Backyard และสวนสาธารณะคลองสาน

 

การนำเสนอส่วนสุดท้ายของพิชชาภา ที่ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อย่านและชุมชน ด้วยการสร้างกระบวนการหรือเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น หรือสามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม 

 

ด้านชัชชาติกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการฟังเสียงของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อหาสมดุลระหว่างปัญหาในอดีตและแนวทางแก้ไขสู่อนาคต ย้ำภาคเอกชนต้องมีส่วนในการสร้างกระจายงานสู่พระโขนง-บางนา ขอให้โครงการนี้เป็นต้นแบบที่จะขยายต่อไป และฝาก กทม. ทำให้เป็นรูปธรรม พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่าไม่สำคัญว่าจะใช้เวลาพัฒนา 10 หรือ 20 ปี แต่สิ่งสำคัญคือก้าวแรกของการพัฒนา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X