×

ธณิกานต์ พลังประชารัฐ ขอบคุณ ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.คู่ชีวิต ปลดล็อกสู่ #สมรสเท่าเทียม ชี้ 3 ประเด็นต้องคำนึงในเวทีสภา

โดย THE STANDARD TEAM
08.06.2022
  • LOADING...
พ.ร.บ.คู่ชีวิต

วันนี้ (8 มิถุนายน) ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ ขอบคุณคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวปลดล็อกหลักการทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การ #สมรสเท่าเทียม อย่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ดังนั้นในเดือนนี้จะมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของสภา 2 ร่าง คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. พร้อมให้ความเห็นว่า นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย และน่ายินดีที่วันนี้ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ได้กลับสู่วาระของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในขั้นต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติคือ ผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางกฎหมายแก่คน ทุกคน ทุกเพศ ด้วยการตรากฎหมายรับรองสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียม 

 

ธณิกานต์กล่าวถึงขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรว่า ขั้นแรกของสภาจะเป็นการลงมติรับหลักการ ต่อไปก็จะเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อหาฉันทามติรายมาตรา และให้ได้แนวทางการปลดล็อกอันนำไปสู่ความเท่าเทียมของคนทุกเพศอย่างแท้จริง ขอทุกฝ่ายร่วมผลักดันให้เกิดสังคมที่ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

ธณิกานต์กล่าวด้วยว่า มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องคำนึงถึงและร่วมหาทางออกในชั้นกรรมาธิการ รัฐสภา คือ

 

  1. สวัสดิการภาครัฐ เนื่องจากยังไม่มีการขึ้นทะเบียนนับจำนวน LGBTQ+ ในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการคลังขอเวลา 3 ปีหลังจากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพื่อจัดสรรงบประมาณในการดูแลให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการ เพื่อสอดคล้องกับหลักการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ หรือ Gender Responsive Budgeting #GRB ซึ่งสนับสนุนความเสมอภาคยิ่งขึ้น

 

  1. ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ส่งผลให้การสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 นั้นยังคงทำได้เฉพาะระหว่างชายกับหญิงอยู่ต่อไป ดังนั้นการแก้ไข ป.พ.พ. โดยปรับแก้คำนิยามใหม่ที่คำนึงถึงทุกเพศจะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง เช่น ใช้คำว่าบุคคล 2 คนแทนชาย-หญิง, ใช้คำว่าคู่สมรสแทนสามี-ภรรยา, ใช้คำว่าบุพการีแทนบิดา-มารดา

 

  1. สิทธิพลเมือง ถ้าจะยกระดับให้กฎหมายของไทยก้าวสู่ระดับสากล ต้องคำนึงถึงสิทธิของความเป็นพลเมืองโลก หรือ Global Citizen แต่กรณีคู่รัก LGBTQ+ ชาวต่างชาติ เข้ามาขอแต่งงานและจดทะเบียนในประเทศไทย ทางกฤษฎีกาได้ชี้ถึงประเด็นเรื่องค่านิยมและความเชื่อตามหลักศาสนา ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น มุสลิมกับมุสลิมที่เป็น LGBTQ+ ต่างชาติ เข้ามาแต่งงานกันในประเทศไทย ซึ่งขัดกับหลักศาสนาและอาจขัดกับประเทศที่ตนอาศัย ส่งผลต่อความมั่นคงของไทยหรือไม่
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X