×

ชัชชาติบุกคุยตำรวจจราจร หารือจัดการปัญหา เตรียมให้ตัวแทน กทม. มานั่งประจำการ พร้อมทำแผนแก้จุดรถติดซ้ำซาก

โดย THE STANDARD TEAM
08.06.2022
  • LOADING...

วันนี้ (8​ มิถุนายน) ชัชชาติ​ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หารือร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) เรื่อง การจัดการจราจรใน กทม. ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) Traffic Police Division​ โดยมี​ พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล​ (รอง ผบช.น.) ในฐานะหัวหน้างานจราจร และ​ พล.ต.ต.​ สุวิชชา จินดาคำ ผู้บังคับการตำรวจจราจร เพื่อชี้แจงข้อมูลกระบวนการทำงานของตำรวจจราจร

 

โดยชัชชาติกล่าวภายหลังการหารือว่า ปัจจุบันเรื่องจราจรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เป็นปัญหากับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงโรงเรียนเปิดและช่วงฝนตก และจากการหารือครั้งนี้สามารถสรุปแนวทางการแก้ปัญหาจราจรได้ 5 ข้อ ดังนี้

 

  1. จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน ทั้ง กทม., ตำรวจจราจร, กระทรวงคมนาคม, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), รถไฟฟ้า, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงต้องมีความร่วมมือกัน 

 

  1. จะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม แม้เดิมจะมีอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติไม่ได้เข้มแข็งมาก โดยควรจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตัวแทน กทม. มานั่งประจำ รวมถึง ขสมก. มาร่วมด้วย เพื่อจะได้ลงไปแก้ปัญหาแต่ละจุดอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กทม. จะรับผิดชอบทำแผนที่ในการทำจุดรถติดซ้ำซาก เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยจะเริ่มทำทันที และเชื่อว่าหลายจุดจะสามารถบรรเทาได้ เช่น จุดที่มีรถจอดส่งของต่างๆ และจะมีการประชุมทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้า

 

  1. เรื่องเทคโนโลยี เพราะกล้องวงจรปิดที่ดูจราจรมีร้อยกว่ากล้องเท่านั้น จาก 50,000 กว่ากล้อง และการบริหารไฟจราจรก็ใช้จราจรที่แยก ทำให้ไม่เห็นภาพรวม ดังนั้นควรมีระบบที่เห็นภาพรวมการจราจรทั้งกรุงเทพฯ และบริหารจัดการไฟแลบกึ่งอัตโนมัติ แต่บางจุดก็ต้องมีคนดูแล จะทำให้ใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาระบบ เพื่อติดตั้ง บริหารจัดการไฟทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นก็จะดำเนินการติดตั้งระบบ 

 

  1. เรื่องความปลอดภัย ซึ่งทางกายภาพ กทม. ดำเนินการ แต่สิ่งสำคัญคือ การจำกัดความเร็วในกรุงเทพฯ โดย กทม. จะนำข้อมูลความเสี่ยงจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาวิเคราะห์ว่าเส้นไหนควรจะมีความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาหารือกับ บช.น. เพื่อกำหนดควบคุมความเร็วในเมืองและในชุมชนที่เป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย

 

  1. เรื่องรถจักรยานยนต์ ต้องหารือว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อจัดการให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช่น บางถนนมีการทำเลนสำหรับมอเตอร์ไซค์ จุดจอดมอเตอร์ไซค์ ก่อนถึงสี่แยก ให้แยกกับรถยนต์ จึงต้องดูแลประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์กลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยจะต้องมีการร่วมมือกับ บช.น. ซึ่งเชื่อว่าหลังจากวันนี้จะเห็นการปรับปรุงที่ดีขึ้น

 

ชัชชาติยังกล่าวอีกว่า หากมีการนำระบบอัตโนมัติและใช้เทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและสะดวกขึ้น ซึ่ง กทม. ต้องช่วยตำรวจจราจรในการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย ส่วนหนึ่งการใช้เทคโนโลยีจะช่วยเรื่องการตรวจ จับ ปรับได้ และหากนำเอาค่าปรับจราจรดังกล่าวมาเป็นตัวที่ใช้ในการลงทุนตัวระบบได้ ก็จะทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณส่วนอื่น

 

ส่วนจะเริ่มแก้ปัญหาจากจุดใดก่อนนั้น ชัชชาติมองว่า จะต้องเริ่มจากจุดที่เกิดปัญหาซ้ำซากก่อน เช่น ถนนพระรามที่ 4 ส่วนหนึ่งที่รถติดคือรถขึ้นทางด่วนและรถจอดส่งของ ทั้งนี้ หากมีการนำเทศกิจไปเป็นผู้ช่วยตำรวจในการบังคับห้ามจอดรถก็น่าจะช่วยทำให้รถคล่องตัวขึ้นได้ และสัปดาห์หน้าตนเองก็จะลงพื้นที่ไปดูจุดที่เป็นปัญหา จุดที่ดูรถติดซ้ำซาก เพื่อดูว่าปัญหาคืออะไรและจะแก้อย่างไร นอกจากนี้หากในการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ก็ควรจะนำกฎหมายมาบังคับใช้ด้วย ส่วนระยะกลางก็เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

 

“ปัจจุบันถนนน้อยกว่ารถ ต้องใช้ถนนอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ใช่แก้ได้ 100% เพราะรถเยอะ ซึ่งรถเยอะเนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี แต่ถ้าระบบขนส่งสาธารณะดีขึ้น หลังจากนี้ถ้ารถไฟฟ้าเสร็จ มีระบบเชื่อมต่อที่ดี ก็เชื่อว่าจะทำให้คนหันมาใช้รถสาธารณะเพิ่มมากขึ้น​ ทั้งนี้ เรื่องรถติดเป็นเรื่องใหญ่ เราพยายามทำเต็มที่ น่าจะเห็นผลที่ดีขึ้นถ้าเราช่วยกัน แต่ก็ขอให้ประชาชนร่วมมือกัน ถ้าช่วยกันเต็มที่ทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้​” ชัชชาติกล่าวในที่สุด 

 

รถติด รถติด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising