เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน (ตามเวลาสหรัฐ) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเริ่มการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2565 สำหรับการนำเข้าแผงโซลาร์จากกลุ่มประเทศในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการสืบสวนว่าแผงโซลาร์ที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ แท้จริงแล้วจะเป็นสินค้าจากจีนที่ย้ายไปตั้งโรงงานเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าหรือไม่
ที่ผ่านมาการสืบสวนของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กดดันต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้ว่าการรัฐต่างๆ รวมไปถึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างกังวลเกี่ยวกับการสอบสวนครั้งนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 250%
อย่างไรก็ดี การเว้นภาษีนำเข้าในระหว่าง 24 เดือนนี้ ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตต่างๆ คลายความกังวลว่าจะไม่ต้องเสียภาษีย้อนหลังมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่าไบเดนจะสนับสนุนให้เกิดการผลิตแผงโซลาร์และพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมากขึ้นในอนาคต โดยการช่วยเหลือด้านเงินกู้และเงินช่วยเหลืออื่นๆ
ขณะที่ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแผงโซลาร์ของไทยต่างพุ่งขึ้นแรงหลังจากเปิดตลาดเช้านี้ (7 มิถุนายน) อาทิ SOLAR +16.9%, PPM +9.3%, GUNKUL +1.75% ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์ของสหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Array Technologies +18%, Sunrun +5.9%, Enphase Energy +5.4% และ SunPower +3%
ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทไทยอาจไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะเป็นบริษัทจีนที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อาจจะส่งผลบวกอยู่บ้าง เนื่องจากการส่งออกแผงโซลาร์ไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้อุปทานในประเทศลดลง และมีโอกาสที่จะทำให้ราคาแผงโซลาร์ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นบวกต่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น GUNKUL, PPM, SOLAR
“แต่เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ส่งออกโดยตรง หากเก็งกำไรระยะสั้นต้องระมัดระวัง เพราะผลบวกที่ได้รับคงจะไม่เท่ากับราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแรง” ภาดลกล่าว
อ้างอิง: