×

เมื่อ ‘สีรุ้ง’ ไม่ได้งดงามเสมอไป การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ในเอเชียที่ทรงพลังในเชิงเศรษฐกิจ

02.06.2022
  • LOADING...
สีรุ้ง

Hello June! คือข้อความบนโซเชียลมีเดียของใครหลายคนที่กล่าวต้อนรับเดือนที่ 6 ของปี ไม่ว่าจะเพื่อย้ำเตือนใจว่าเรากำลังจะเดินทางมาถึงครึ่งทางแล้วสำหรับปี 2022 หรือเพื่อบอกตัวเองว่ายังเหลือเวลาอีกครึ่งปีที่จะทำอะไรที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ

 

แต่สำหรับชาว LGBTQ+ แล้วเดือนนี้มีความหมายเป็นพิเศษสำหรับพวกเขา เพราะนี่คือ Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราจะได้เห็น ‘สีรุ้ง’​ อันเป็นสื่อตัวแทนถึงความหลากหลายของพวกเขาทั่วไปหมด ไม่ว่าจะตามสถานที่ ถนนหนทาง หรือสินค้าของแบรนด์ต่างๆ ที่ทำออกมาเพื่อเกาะกระแส

 

เพราะบนโลกใบนี้ไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขาได้ และไม่มีใครควรปฏิเสธชาว LGBTQ+ ที่มีความสำคัญต่อโลกใบนี้ในทุกด้าน รวมถึงในเชิงของเศรษฐกิจ

 

ตามการเปิดเผยของ Forbes เมื่อปี 2019 อำนาจในการซื้อของชาว LGBTQ+ ซึ่งเรียกกันว่า ‘Pink Money’ ทั้งโลกรวมกันถึงกว่า 3.7 ล้านล้านดอลลาร์! หรือกว่า 127 ล้านล้านบาท (อนุญาตให้ตกใจอีกที!) และพลังของพวกเขานั้นแข็งแกร่งไม่แพ้ธานอสเลยทีเดียว

 

ขณะที่ BBC เคยตีพิมพ์บทความ ‘Business: The Economy: The Pink Pound’ ที่ตอนหนึ่งระบุว่า ชาวเกย์จะสนับสนุนบริษัทที่ยินดีเปิดประตูต้อนรับพวกเขาถึงกว่า 90% และจะบอยคอตบริษัทที่มีนโยบายในการต่อต้านเกย์

 

ในปี 2017 MarketingMag ระบุว่า ‘เกือบ 70% ของคนรักร่วมเพศยอมรับว่าพวกเขาได้รับอิทธิพลจากโฆษณาที่มีภาพเกย์หรือเลสเบี้ยนในนั้น’

 

นั่นหมายถึงการที่หากธุรกิจใดก็ตามทำความเข้าใจและยอมรับชาว LGBTQ+ แล้ว พวกเขามีโอกาสที่จะได้สิ่งตอบแทนคือรายได้มหาศาลจากเงินสีชมพูที่ทรงพลังของกลุ่มชนผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้

 

สีรุ้ง

 

Rainbow Washing ปรากฏการณ์น้ำกินรุ้ง

อย่างไรก็ดีถึงการเพิ่ม ‘การรับรู้’ (Awareness) จะเป็นเรื่องดีเสมอไม่ว่าจะกับเรื่องใดก็ตาม ที่คนทั้งโลกควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อทำความเข้าใจ แต่สำหรับ Pride Month ยังมีสิ่งที่น่ากังวลที่เรียกว่า ‘Rainbow Washing’

 

Rainbow Washing ในความหมายโดย Urban Dictionary บอกไว้ว่าคือ การแสร้งทำเป็นสนับสนุนชาว LGBTQ+ ในเรื่องของการสนับสนุนการเรียกร้องความเท่าเทียมผ่านการแสดงออกด้วยการใช้สีรุ้งในภาพ ในงานโฆษณา ในสินค้า และสถานที่ต่างๆ แต่ไม่ได้พยายามอย่างจริงจังเพื่อจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

 

พูดง่ายๆ คือเป็นการเกาะกระแส Pride Month เพื่อหวังผลมากกว่าหวังความเปลี่ยนแปลง    

 

การแสดงออกนั้นจะทำผ่านการเปิดตัวแคมเปญในเดือน Pride Month, สร้างคอนเทนต์ที่มาจากสมาชิกในทีมที่เป็นชาว LGBTQ+, ร่วมเดินขบวน, ใช้สีรุ้งในผลิตภัณฑ์, เปลี่ยนโลโก้เป็นการชั่วคราว หรือหนักไปถึงขั้นทำตัวว่าสนับสนุน Pride Month แต่อีกด้านก็สนับสนุนองค์กรหรือกลุ่มคนที่ต่อต้าน LGBTQ+ ผ่านวิธีต่างๆ

 

การทำเช่นนี้ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะทำให้สีรุ้งนั้นมัวหมองและไร้ความหมาย เพราะสิ่งที่ชาว LGBTQ+ ต้องการจริงๆ ไม่ใช่ ‘สีสัน’

 

แต่เป็นศักดิ์และสิทธิที่เท่าเทียมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

การต่อสู้ของ LGBTQ+ ในเอเชีย เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสามก้าว

สำหรับในทวีปเอเชีย การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของชุมชนชาว LGBTQ+ ยังเป็นไปอย่างอย่างลำบากในปี 2022 เพราะแม้จะมีแสงของความหวังให้เห็นบ้างในบางประเทศ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ดูมืดมนอนธการ

 

หนึ่งในประเทศที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดคืออัฟกานิสถาน หลังจากกองทัพตาลีบันปกครองประเทศ ทำให้ชาว LGBTQ+ ต้องอยู่ในความหวาดกลัวยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมที่พวกเขาต้องต่อสู้กับความคิดของครอบครัวที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ ตอนนี้การแสดงออกว่าเป็นกลุ่มที่มีหลากหลายทางเพศอาจหมายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

 

อาเมียร์ (นามสมมติ) เปิดเผยกับ Nikkei ว่า เขาเห็นเพื่อนที่เป็นชาว LGBTQ+ ถูกกองทัพตาลีบันจับกักขัง หน่วงเหนี่ยว และทรมาน จนทำให้เขาตัดสินใจที่จะลี้ภัยไปอยู่ในยุโรป

 

“ผมมีชีวิตที่ดีขึ้น มีงาน และแต่งตัวแบบไหนก็ได้ตามที่ต้องการ” อาเมียร์กล่าว

 

แต่อัฟกานิสถานไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาเรื่องนี้ ประเทศบรูไนเคยเป็นข่าวครึกโครมกับโทษประหารสำหรับชายที่มีความสัมพันธ์สวาทกับชายด้วยกัน เพียงแต่ สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประกาศว่าจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ในเวลาต่อมา

 

สีรุ้ง

 

ที่ประเทศอินโดนีเซีย ชาติที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก เคยมีผลสำรวจในปี 2019 จาก Pew Research Center ระบุว่ามีประชาชนเพียง 9% ยอมรับคนที่รักร่วมเพศ ขณะที่อีก 80% ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

 

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา YouTuber ที่เคยเป็นนักมายากลที่มีชื่อเสียงอย่าง เดดดี คอร์บูเซียร์ (Deddy Corbuzier) ต้องลบวิดีโอรายการพอดแคสต์ที่เล่าเรื่องของชายชาวอินโดนีเซีย ที่แต่งงานอยู่กินกับชายคนรักชาวเยอรมนี ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ

 

ในประเทศจีนการเป็นเกย์ เป็นไบเซ็กชวล หรือทรานส์ ถูกสังคมต่อต้านเพราะมองว่าเป็นการทำตาม ‘แนวคิดตะวันตก’ และนั่นทำให้ชุมชน LGBTQ+ ในแดนมังกรประสบความลำบากไม่น้อยในการดำเนินชีวิต แม้แต่ในเขตฮ่องกงที่เหมือนจะยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มากกว่า แต่ไม่นานมานี้ศาลฮ่องกงก็ปฏิเสธที่จะพิจารณาการขอเปลี่ยนเพศบนบัตรประชาชน

 

แม้แต่ในประเทศสิงคโปร์ที่มีความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน แต่ในเรื่องของ LGBTQ+ แล้ว การมีเพศสัมพันธ์ของผู้ชายด้วยกันยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็ตาม

 

ความหวังของแสงสีรุ้ง

แต่อย่างน้อยสัญญาณที่ดีสำหรับชาว LGBTQ+ ในสิงคโปร์คือการที่สภานิติบัญญัติได้ผ่านกฎหมายสำคัญเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการทำให้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกันสามารถรับอุปการะบุตรบุญธรรมได้

 

สีรุ้ง

 

สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็น ‘สวรรค์’ สำหรับชาว LGBTQ+ ในแง่ของการแสดงออกที่ทำได้อย่างอิสระ ภาพยนตร์และซีรีส์เกี่ยวกับความรักของเด็กหนุ่มด้วยกันถูกเผยแพร่ออกไปในหลายที่ และได้รับความนิยมในญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงทางลาตินอเมริกา

 

ปัญหาของประเทศไทยคือการที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียม แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกหารือในคณะรัฐมนตรีมายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว

 

“ผมอยากจะเรียกมันว่าความเท่าเทียมจอมปลอม เพราะในขณะที่เรายินดีต้อนรับคนที่เป็น LGBTQ+ แต่เราไม่มีกฎหมายที่จะปกป้องสิทธิของพวกเขา” กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่พยายามผลักดันให้มีกฎหมายยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน

 

ขณะที่ในไต้หวัน พวกเขามีความก้าวหน้ากว่ามาก โดยเป็นชาติแรกในเอเชียที่ได้รับรองการสมรสเท่าเทียมเมื่อ 3 ปีก่อน และทำให้ปัจจุบันมีคู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานกันมากกว่า 7,200 คู่ คิดเป็น 2% ของคู่แต่งงานทั้งหมดของประเทศ แม้ว่าจะยังมีข้อห้ามไม่ให้แต่งงานกับคนเพศเดียวกันจากประเทศที่ยังไม่มีการรับรองในเรื่องนี้

 

ที่ญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ที่เมืองโอซาก้า หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ศาลเมืองซัปโปโรตัดสินว่าการไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของชุมชน LGBTQ+ ในญี่ปุ่น

 

และอย่างน้อยในเขตเทศบาลกว่า 200 แห่ง อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันได้ แม้ว่าจะยังไม่มีสิทธิเทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศปกติก็ตาม ในเรื่องของความปลอดภัยทางสังคมและสิทธิทางด้านภาษี

 

ดังนั้นหากจะถามว่าปัจจุบัน ‘สีรุ้ง’ นั้นงดงามตามสิ่งที่เราได้เห็นการแต่งแต้มหรือไม่ ก็อาจจะตอบได้ไม่เต็มปากนัก เพียงแต่อย่างน้อยที่สุดสำหรับชาว LGBTQ+ ในเอเชียแล้วเราพอมองเห็นรัศมีที่พยายามทอประกายออกมา

 

ด้วยความหวังว่าสักวันรุ้งจะทอประกายอย่างงดงามบนท้องฟ้าในใจของทุกคน

 

ภาพ: Alberto Buzzola / LightRocket via Getty Images, ศวิตา พูลเสถียร THE STANDARD

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X