สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุตัวเลขการตรวจยึดยาไอซ์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่แล้ว พบว่ามากกว่า 1 พันล้านเม็ด ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และบ่งชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่าง ‘น่าตกใจ’ ของขบวนการค้ายาเสพติดสังเคราะห์ในภูมิภาค
จากข้อมูลในรายงานของ UNODC ระบุว่า การผลิตและลักลอบค้าขายยาไอซ์นั้นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งส่งผลให้แก๊งค้ายาเสพติดในเอเชียมียาไอซ์ป้อนเข้าสู่ตลาดมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
“ขนาดและการเข้าถึงยาบ้าและการค้ายาสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นน่าตกตะลึง และยังสามารถขยายตัวได้อีก หากทางการในภูมิภาคไม่เปลี่ยนแนวทางและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งทำให้มันมาถึงจุดนี้” เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ดักลาสยังชี้ว่า การลักลอบค้ายาเสพติดนั้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแก๊งอาชญากรหลายกลุ่มอาศัยประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมือง เช่น การรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งทำให้พื้นที่ชายแดนบางแห่งไร้กฎหมายและง่ายต่อการใช้ประโยชน์ในการลักลอบผลิตยาเสพติด
สำหรับราคายาไอซ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย และไทย ซึ่งดักลาสระบุว่า “ราคายาไอซ์นั้นลดต่อเนื่อง” ในขณะที่ความบริสุทธิ์ของยายังคงสูงอยู่ ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงยาเสพติดที่มีความบริสุทธิ์สูงได้มากขึ้น
“องค์กรอาชญากรรมมีส่วนผสมทั้งหมดที่จำเป็นต่อการเดินหน้าธุรกิจค้ายาเสพติด ซึ่งรวมถึงอาณาเขตการผลิต การเข้าถึงสารเคมี เส้นทางการค้ามนุษย์ที่จัดตั้งขึ้น และความสัมพันธ์ในการเคลื่อนย้าย ตลอดจนประชากรจำนวนมหาศาลที่มีอำนาจในการใช้จ่ายเพื่อเป้าหมาย” ดักลาสกล่าว
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากกว่า 680 ล้านคนใน 11 ประเทศ พบว่าการลักลอบค้าขายยาไอซ์นั้นเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูและมีมูลค่าสูงหลักหลายพันล้านดอลลาร์ และได้เข้ามาแทนที่ฝิ่นและเฮโรอีน ที่เป็นอนุพันธ์ของยาไอซ์ จนกลายเป็นยาผิดกฎหมายทั้งสำหรับใช้และส่งออก
ภาพ: Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: