×

หน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ เร่งผลักดันกฎหมายควบคุมคริปโต หวังปกป้องนักลงทุน หลัง Stablecoin ล่มสลาย

29.05.2022
  • LOADING...
กฎหมายควบคุมคริปโต

สภาครองเกรส, สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เร่งพิจารณาร่างกฎหมายกำกับดูแลคุ้มครองนักลงทุนคริปโต หลังเกิดปรากฏการณ์ Stablecoin ล่มสลาย จ่อออกกฎควบคุมธนาคารเงา เหตุเป็นช่องโหว่สำคัญในการกำกับดูแล

 

สำนักข่าว CNBC รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกเกณฑ์ในการกำดับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมถึง Stablecoin และคริปโต โดยล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐ, ฝ่ายกำกับดูแลหลักทรัพย์ของตลาดตลาดหลักทรัพย์ CFTC และสภาคองเกรส ได้ร่วมหารือ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมและเหมาะสม 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่แสนโหดร้ายสำหรับตลาดคริปโต โดยมูลค่าตลาดราวครึ่งล้านล้านดอลลาร์ถูกกวาดล้างออกไป เป็นผลพวงจากการล่มสลายของเครือข่าย Terra ซึ่งเป็นหนึ่งใน Stablecoin ที่ตรึงอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 

 

ในขณะเดียวกันเหรียญดิจิทัล เช่น Ether ที่กราฟราคาก็ผันผวนอย่างมาก เพราะถูกเทขายอย่างหนัก ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวมอย่างต่อเนื่อง

 

นักลงทุนบางคนมองว่าเหตุการณ์ในเดือนที่แล้วเป็นช่วงเวลาของตลาดหมี หรือ Bear Stearns สำหรับตลาดคริปโต โดยเปรียบเทียบผลกระทบจาก Stablecoin ที่ล้มเหลวกับการวิกฤตการเงินปี 2008 ที่เป็นฝันร้ายของภาคธนาคาร ซึ่งเกิดจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ 

 

ไมเคิล ชู รักษาการผู้ควบคุมสกุลเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า การเสื่อมสลายนี้เผยให้เห็นความลึกของช่องโหว่ในระบบ โดยเห็นได้ชัดว่าผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ในตลาดคริปโตเท่านั้น แต่ยังลามไปถึง Stablecoin อื่นๆ ซึ่งก็ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสนใจจริงๆ 

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้กังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการล่มสลายของคริปโตที่กำลังขยายวงกว้างขึ้น 

 

วุฒิสมาชิกและหน่วยงานกำกับดูแลหลายคนกล่าวกับ CNBC หลังจบการประชุมสุดยอด DC Blockchain ว่า นักลงทุนยังไม่ต้องตกใจผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะกฎระเบียบของสหรัฐฯ จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของตลาดคริปโต และที่สำคัญคือกลุ่มสินทรัพย์คริปโตก็ยังไม่หายไปไหน

 

คอรีย์ บูเกอร์ หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เกมนี้จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้การคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าชัดขึ้น และต้องมีการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย

 

“สิ่งที่เราไม่ควรทำเลยคือการกีดกันอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ออกไป เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังสูญเสียโอกาส ซึ่งจะทำให้เรา (สหรัฐฯ) พลาดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานใหม่ๆ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและปกป้องผู้ลงทุนอย่างแท้จริง” บูเกอร์กล่าว

 

Stablecoin ล่ม เร่งให้เกิดร่างกฎหมาย 

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม Stablecoin ยอดนิยมที่รู้จักกันในชื่อ TerraUSD หรือ UST ได้สูญมูลค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางคนอธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์ Bank Run หมายความถึงนักลงทุนเทขายออกมาอย่างหนัก และปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้มูลค่าเหรียญ Luna และ UST ที่เคยครองมูลค่าตลาดรวมกันเกือบ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ แทบจะหายวับไปกับตา 

 

ความล้มเหลวของ UST แม้จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนในวงการคริปโตมากนัก

 

นิค คาร์เตอร์ จาก Coin Metrics บอกกับ CNBC ว่า ไม่มี Algorithmic Stablecoin ใดที่เคยทำสำเร็จ โดยสังเกตได้ว่าปัญหาพื้นฐานของ UST คือการเชื่อมั่นและไว้ใจผู้ออกแบบมากเกินไป 

 

ซินเธีย ลัมมิส จาก Capitol Hill และเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุด เห็นด้วยกับคาร์เตอร์ โดยลัมมิสกล่าวว่า ปัจจุบันมี Stablecoin อยู่ 2-3 ประเภท ประเภทที่ล้มเหลวก็คือ Algorithmic Stablecoin ซึ่งแตกต่างจาก Stablecoin ที่มีสินทรัพย์ดั้งเดิมเป็น Asset-Backed อย่างมาก และหวังว่าผู้ลงทุนจะตระหนักว่าไม่ใช่ทุกเหรียญที่จะมีเสถียรภาพทั้งหมด ดังนั้นการเลือกเหรียญที่มีเสถียรภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากสินทรัพย์เป็นสิ่งสำคัญ

 

มุมมองนี้สอดคล้องกับ คริสคาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการ IMF ที่กล่าวในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ที่เมืองดาวอส เมื่อเร็วๆ นี้ว่า Stablecoin ที่ไม่มีการสนับสนุนจากสินทรัพย์ดั้งเดิม ควรอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแล  

 

ด้าน เฮสเตอร์ เพียร์ซ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าเราจะออกกฎระเบียบเร็วขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเหรียญ Stablecoin อยู่แล้ว ก่อนจะเกิดการล่มสลาย UST ก็ตาม 

 

จ่อควบคุม ‘ธนาคารเงา’ 

แคโรลีน แฟม คณะทำงานจาก Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานอิสระของสหรัฐฯ กล่าวว่า การล่มสลายของ UST ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นเพียงใด เพื่อป้องกันการกลับมาของธนาคารเงา (Shadow Banking) หรือก็คือระบบธนาคารประเภทหนึ่งที่กิจกรรมทางการเงินได้รับการอำนวยความสะดวกโดยตัวกลางที่ไม่มีการควบคุม

 

โดยแฟมระบุเพิ่มว่า การป้องกันที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายอย่างก็เป็นกลลวง 

 

“การกำกับดูแลสิ่งที่มีอยู่แล้วมักจะเร็วกว่าการกำกับดูแลสิ่งใหม่เสมอ ซึ่งตอนนี้เรากำลังคุยกันถึงการขยายขอบเขตการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” แฟมกล่าว 

 

หลายเดือนก่อนการล่มสลายของ UST คณะทำงานของประธานาธิบดีด้านตลาดการเงินได้เผยแพร่รายงานที่สรุปกรอบการกำกับดูแล Stablecoin โดยแบ่งภูมิทัศน์ของ Stablecoin ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Stablecoin สำหรับการซื้อ-ขาย และ Stablecoin สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการ 

 

ทุกวันนี้โดยทั่วไปแล้ว Stablecoin มักถูกใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ขณะที่การกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านกำกับดูแลมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแล Stablecoin สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อผลักดันให้ Stablecoin แพร่หลายใน Means of Payment มากขึ้น 

 

ชูจากสำนักงานกรมบัญชีกลางของสกุลเงิน หนึ่งในผู้ร่วมร่างกฎเกณฑ์กำกับดูแล กล่าวว่า สำหรับคนที่ทำให้หน้าที่ด้านกำกับดูแล พวกเราเป็นนักประวัติศาสตร์ประเภทตราสารที่มีลักษณะคล้ายเงิน ดังนั้นในการกำกับดูแลครั้งนี้ วิธีจัดการที่ได้ผลก็คือการออกกฎระเบียบอย่างรอบคอบและครอบคลุม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าการกำกับดูแลธนาคารเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

 

นอกจากนี้แฟมยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สิ่งสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ร่างกฎหมายต้องตอบให้ได้ก่อนคือ Stablecoin ซึ่งหมายรวมถึง Algorithmic Stablecoin นั้นจัดเป็นอนุพันธ์หรือไม่

 

โดยทั่วไปแล้วอนุพันธ์เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขายจากความผันผวนของราคาของสินทรัพย์อ้างอิงได้ และสินทรัพย์อ้างอิงสามารถเป็นได้เกือบทุกอย่าง ทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ รวมถึงสิ่งที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังคิดอยู่ตอนนี้นั่นคือสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin

 

แฟมกล่าวว่า ก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์ แต่สินทรัพย์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากหลักทรัพย์ ทาง CFTC อาจต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้านการออกกฎระเบียบอยู่บ้าง

 

“ครั้งสุดท้ายที่ CFTC เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็คือช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ซึ่งสภาคองเกรสได้คิดหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น จนเกิดกฎหมาย Dodd-Frank ขึ้น หรือก็คือพระราชบัญญัติการปฏิรูปและคุ้มครองนักลงทุนในปี 2010 เพื่อตอบสนองต่อภาวะถดถอยครั้งใหญ่ พระราชบัญญติดังกล่าวครอบคลุมการกำกับดูแลอนุพันธ์รวมถึงกฎระเบียบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติด้านการซื้อ-ขายอนุพันธ์ของนักลงทุนสถาบันที่ประกันโดย FDIC” แฟมกล่าว

 

เขาอธิบายเพิ่มว่า หากว่าในความเป็นจริงแล้ว Stablecoin จัดเป็นการซื้อขายอนุพันธ์ เราก็กำลังพูดถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าในตะกร้าแบบกำหนดเอง จากนั้นทางตัวแทนจำหน่ายก็จะเป็นผู้ที่ต้องจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

 

สภาคองเกรสเร่งให้ออกกฎควบคุม

ในท้ายที่สุด เพียร์ซ กรรมาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ตอนนี้ทางสภาคองเกรสเรียกร้องให้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎระเบียบการกำกับดูแลคริปโต ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลระดับสูงของของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ก็กำลังดำเนินการโดยใช้อำนาจที่มีอยู่ 

 

ลัมมิสกล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการกำหนดกรอบการทำงานให้ครอบคลุมกับสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษี โดยต้องแน่ใจจริงๆ ว่าภาษีจะถูกจัดเก็บบนฐานของกำไรจากส่วนต่างราคาสินทรัพย์ ซึ่งจะไม่นับเป็นรายได้ปกติ นอกจากนี้ยังมีการจัดการกับกระบวนการทางบัญชีและการให้นิยามที่เหมาะสม อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการคุ้มครองผู้ลงทุนและความเป็นส่วนตัวอีกด้วย 

 

โดยรายละเอียดเชิงลึกด้านการเรียกเก็บภาษีนั้น ร่างกฎหมายนี้จะพิจารณาถึงการมีอยู่ของ Sub Set ของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย และจะกำหนดให้ต้องมีการประกันโดย FDIC หรือต้องมีสินทรัพย์ดั้งเดิมสนับสนุนมากกว่า 100% 

 

บูเกอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิก กล่าวว่า กฎระเบียบควรมีความถูกต้อง เหมาะสม และส่วนตัวไม่คิดว่าลำพังแค่สำนักงาน ก.ล.ต. จะสามารถกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ได้ครอบคลุมและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า Ethereum และ Bitcoin ซึ่งเป็นคริปโตยอดนิยมนั้น ดูเหมือนจะเอนเอียงไปมีความคล้ายคลึงกับสินค้าโภคภัณฑ์ค่อนข้างมาก 

 

อย่างไรก็ตาม จนกว่าร่างกฎหมายจะผ่านวุฒิสภา นักลงทุนจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X